• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อนามัยของลำไส้

คเนศกริยา หรือ มูละโสธนา
คือการใช้ไม้เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดประมาณนิ้วมือ ทำความสะอาดและนวดบริเวณทวาร ซึ่งตามตำราโบราณใช้รากขมิ้น โดยจุ่มในน้ำมันละหุ่ง แล้วสอดลึกเข้าไปราวสามส่วนสี่ของนิ้วมือ หมุนรากขมิ้นเพื่อนวดทั้งตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกา

เทคนิคนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารแข็งแรงขึ้น และมีความชุ่มชื้นมากขึ้น มีผลดีต่อผู้สูงอายุ ซึ่งอาจมีปัญหาความแห้งที่ปากทวาร อันส่งผลให้อุจจาระคั่ง เทคนิคนี้ยังช่วยให้กลไกตอบสนองที่ทวารทำงานได้ดีขึ้น ประสาทบริเวณอุ้งเชิงกรานทำงานดีขึ้น ปรับสภาพของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานให้ทำงานได้เป็นปกติ

เทคนิคที่ว่ามาแต่ต้น เป็นเทคนิคหลักของโยคะในการรักษาสุขอนามัย ซึ่งนำมาใช้ในการบำบัดรักษา ควรฝึกเทคนิคเหล่านี้ก่อนอาหารเช้า โดยเฉพาะเทคนิคที่ดูแลกระเพาะ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ เมื่อทำเสร็จแล้ว กินอาหารเช้าที่มีกากภายในครึ่งชั่วโมง เพื่อไม่ให้อวัยวะเหล่านี้ว่างอยู่นานเกินไป

เทคนิคโวมันเดาติ (อาเจียนออกจากกระเพาะ) ในตำราโบราณแนะนำให้ทำหลังจากกินอาหารไป 3-4 ชั่วโมง เพื่อชำระนำอาหารที่เหลือตกค้างอยู่ในกระเพาะออก โดยแนะนำให้กินอาหารเบาภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากทำโวมันเดาติ

การชำระล้างท่อทางเดินระบบอาหารของโยคะที่กล่าวมาทั้งหมดดูเหมือนออกจะ "เกินไป" นักวิจารณ์ชาวตะวันตกท่านหนึ่งถึงกับกล่าวว่า "เป็นความสุดโต่งของชาวฮินดูกับระบบขับถ่าย ซึ่งปฏิบัติกันในกลุ่มผู้นับถือศาสนา ไปจนเป็นธรรมเนียมทางสังคม"

คำกล่าวนี้ ออกจะไม่เป็นธรรม เพราะหากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จะพบว่าชาวฮินดูโดยทั่วไป สังคมอินเดียโดยทั่วไปไม่ได้ปฏิบัติเทคนิคเหล่านี้ หากจะมีขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันตามความเชื่อทางศาสนาที่มากที่สุดที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร ก็น่าจะเป็นการอดอาหาร การจำกัดอาหารบางชนิดมากกว่า ซึ่งวัตรปฏิบัติเรื่องอาหารนี้ก็มีกันในหลายๆศาสนา รวมทั้งศาสนาคริสต์ ศาสนายิว และอิสลาม
ข้อน่าสังเกตคือ ท่อทางเดินอาหารนั้น โดยธรรมชาติ ไม่ได้เป็นแค่เพียงไว้ย่อยและดูดซึมอาหารเท่านั้น เช่นเดียวกับปอด ผิวหนัง และไต มันทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียด้วยสารพิษ สิ่งแปลกปลอมอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ จากกระแสเลือดและเนื้อเยื่อจะถูกขับผ่านทางกระเพาะ ลำไส้ อยู่ตลอดเวลา ในรูปของเมือก และแก๊ส และถูกขับออกจากร่างกายต่อไปอีกทอดหนึ่ง

โยคะให้ความสำคัญกับเทคนิคกริยา การชำระล้างเหล่านี้ สำหรับเฉพาะผู้ที่มีปัญหามูกเกิน สำหรับผู้ที่แนวโน้มจะเป็นโรคอ้วน ส่วนผู้ที่ไม่มีปัญหา ไม่ต้องทำ ดังระบุชัดเจนอยู่ในตำรา หฐโยคะประทีปิกะบทที่ 2 ประโยคที่ 21 "สำหรับผู้ที่มีไขมันเกิน มูกเกิน ให้ฝึกกริยาทั้ง 6 (ก่อนเริ่มฝึกปราณายามะ) ส่วนผู้ที่ตรีโทษอยู่ในภาวะปกติ ไม่จำเป็นต้องฝึกแต่อย่างใด"

ข้อมูลสื่อ

352-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 352
สิงหาคม 2551
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์