• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะบำบัด บทที่ 4 (ต่อ) เทคนิคการชำระล้างลำไส้ (บาสติ)



1. วาตะบาสติ

การชำระล้างลำไส้ของโยคะนั้น ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องมีความชำนาญในการทำนาอุลิ (เทคนิคการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องขยับไปมาเพื่อถูนวดช่องท้อง) นั่งยองๆ เข่าชิดแนบอก เอามือรวบหน้าแข้ง กอดรัดขาให้ชิดทรวงอก ทำนาอุลิ ทำให้เกิดสุญญากาศในช่องท้อง จากนั้น เปิดหูรูดทวาร อากาศจะเข้าไปในลำไส้ หูรูดทวารจะปิดเองโดยอัตโนมัติเมื่อเราคลายนาอุลิ ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง จนรู้สึกว่าอากาศเติมเข้าไปจนแน่นที่ลำไส้

สำหรับผู้ที่ไม่มีความชำนาญในการควบคุมหูรูดทวาร ใช้ท่อยางกลวงยาวประมาณ 6 - 10 นิ้ว สอดเข้า ไปในก้น ทำนาอุลิเพื่อให้อากาศเข้าไปในลำไส้ โดยเราใช้นิ้วอุดปลายท่อเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศไหลออก ทำนาอุลิ 5 - 10 ครั้ง จนรู้สึกแน่นลำไส้ จึงดึงท่อออก หูรูดทวารยังคงปิดอยู่ ทำให้อากาศค้างอยู่ในลำไส้ วาตะบาสติเหมาะสำหรับอาการลำไส้ใหญ่อักเสบ

2. วารีบาสติ
ทำแบบเดียวกับวาตะบาสติ โดยนั่งคุกเข่าในอ่างน้ำ ให้ก้นแช่อยู่ในน้ำ ทำนาอุลิให้เกิดสุญญากาศในลำไส้ เพื่อดูดน้ำเข้าไปในลำไส้ สำหรับผู้ที่ควบคุมหูรูดทวารไม่ได้ ก็ใช้สายยางกลวงสอดก้น และใช้นิ้วปิดท่อกันไม่ให้น้ำไหลออก ทำนาอุลิ 5 - 10 ครั้ง เพื่อดูดน้ำเข้าไปในลำไส้

ในกรณีที่ใช้สายยาง เราอาจทำได้อีกวิธี คือไม่ต้องเอาก้นแช่น้ำ แต่ใช้เหยือกน้ำแทน ถือเหยือกน้ำเสมอเข่า ใช้สายยางเส้นยาว ปลายหนึ่งสอดก้น อีกปลายจุ่มในเหยือก เมื่อทำนาอุลิจนเกิดสุญญากาศ น้ำจากเหยือกจะไหลเข้าก้นในลักษณะของกาลักน้ำ การไหลของน้ำเข้าไปในลำไส้จะง่ายขึ้นเพราะแรงดึงดูดของโลก

เมื่อน้ำเข้าไปในลำไส้แล้ว ทำนาอุลิซ้าย-ขวา สลับไปมาสัก 1 - 2 นาที เพื่อการชำระล้างภายในลำไส้ได้อย่างหมดจด แล้วจึงขับน้ำออก

ตามธรรมเนียม เมื่อทำบาสติเสร็จ ให้ทำมยุราอาสนะ (แบบพับเข่าเข้าในลักษณะปทุมอาสนะ) เป็นการช่วยให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวแบบริ้วคลื่นได้ดีขึ้น ไล่น้ำที่ค้างออกได้ดีขึ้น

วารีบาสติแตกต่างไปจากการใช้น้ำสวนทวาร (ดีท็อกซ์) ของปัจจุบัน

การสวนทวาร น้ำจะไหลเข้าก้นด้วยความแรงสูง จุดดีคือ ทำให้ผนังลำไส้ขยายตัว และน้ำจะเข้าไปในลำไส้ค่อนข้างลึก แต่จุดอ่อนคือ น้ำจะไหลเข้าค่อนข้างเร็ว ซึ่งไม่ให้ผลในการชำระล้างเต็มที่นัก
 

ข้อพึงระวังคือ การสวนทวารอาจทำให้กล้ามเนื้อ ผนังลำไส้เกียจคร้าน และสูญเสียความแข็งแรง ในขณะที่บาสติของโยคะนั้น ช่วยให้กล้ามเนื้อของผนังลำไส้แข็งแรงขึ้น เนื่องจากเป็นการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องสร้างสุญญากาศดูดเอาน้ำเข้าไปด้วยตัวเอง

ข้อมูลสื่อ

350-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 350
มิถุนายน 2551
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์