• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สติ-ปัญญา อุปกรณ์ดับทุกข์

ขณะที่ลงมือเขียนต้นฉบับนี้ ตรงกับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันระลึกถึงการอุบัติขึ้น ของพระพุทธองค์และพุทธศาสนา ที่สอนเรื่องความทุกข์ (ใจ) และการดับทุกข์ (ใจ)

พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบว่า มนุษย์จะมีจิตใจที่เป็นทุกข์ ถูกกดดันหรือบีบคั้นเป็นครั้งคราว เมื่อมีการรับรู้ (วิญญาณ) โลกภายนอกหรือสิ่งกระทบผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อยาตนะ 6) แล้วเกิดความรู้สึก (เวทนา) ว่าดี-ไม่ดี ชอบ-ไม่ชอบ พอใจ-ไม่พอใจ แล้วมีความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ต่อเป็นความอยากเอา-ไม่อยากเอา อยากเป็น-ไม่อยากเป็น (ตัณหา) อย่างรุนแรงจนกลายเป็นการยึดติด (อุปาทาน) ในความรู้สึกและความคิดนั้นๆ เมื่อเกิดการยึดติดหรือยึดมั่นถือมั่น (ไม่ รู้จักปล่อยวาง) ความรู้สึกว่ามีตัวตน (ตัวเรา ของเรา) ก็จะโผล่ขึ้นมาในความคิด จนก่อให้เกิดอารมณ์โลภ-โกรธ-หลง แสดงออกทางกายและวาจาตามอารมณ์นั้น และเกิดความทุกข์ใจพร้อมๆ กันไป

การรับรู้ (ภาวนา) ความรู้สึก (ภาวนา) และความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยร่างกาย (รูป) ได้แก่ ประสาทรับสัมผัสกับสมองและความจำ (สัญญา) ซึ่งเป็นตัวสะสมข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ประสบการณ์ ค่านิยม กรอบความคิดในอดีตที่ผ่านมา

องค์ประกอบทั้ง 5 นี้ (ขันธ์ 5) ซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายร่างกาย (รูป) และฝ่ายจิตใจ (นาม) นั้นต่างทำงานร่วมกัน

เมื่อมีสิ่งกระทบก็เกิดการกระเทือนต่อจิตใจจนกลายเป็นความทุกข์ต่างๆ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่อย่างรวดเร็ว รุนแรงดุจสายฟ้าแลบ จนคนทั่วไปมักแยกไม่ออก ตามไม่ทัน

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ การค้นพบเรื่องขันธ์ 5 และการทำงานของขันธ์ 5 ดังกล่าว ช่างสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์โดยนักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบัน ที่พบว่าเมื่อมีสิ่งกระทบ (เช่น ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ผ่านประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) จะมีการแปลงเป็นกระแสประสาท วิ่งผ่านเส้นประสาทเข้าไปแปลผลที่สมอง (ซึ่งมีศูนย์รับรู้ สิ่งกระทบแต่ละชนิดเป็นการจำเพาะ) แล้วส่งกระแส ประสาทไปที่ส่วนรับรู้ความรู้สึก (สมองส่วนที่เรียกว่า Limbic system ที่พัฒนามาจากสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นต่ำ ขอเรียกว่า "ศูนย์อารมณ์") เพื่อ แปลความว่าน่ากลัว-ไม่น่ากลัว ปลอดภัย-ไม่ปลอดภัย ดี-ไม่ดี เพื่อให้ร่างกายพร้อมที่จะตอบโต้ทันควัน เช่น ถ้าน่ากลัว ก็จะวิ่งหนี หรือสู้ (ถ้าหนีไม่ได้) อันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามสัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอด ต่อจากนั้นกระแสประสาทจึงจะวิ่งไปที่สมองส่วนที่ใช้เชาวน์ปัญญาหรือเหตุผล (สมองส่วนที่เรียกว่า prefrontal cortex หรือสมองส่วนหน้าผาก ขอเรียกว่า "ศูนย์เหตุผล") ทำการคิดพิจารณา ไตร่ตรอง หากแน่ใจว่าสิ่งกระทบ (เช่น ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน) เป็นสิ่งไม่น่ากลัว ก็จะสั่งให้คลายความกลัว ร่างกายผ่อนคลายลง และพิจารณาตอบสนองต่อสิ่งกระทบนั้นตามเหตุตามผลที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ทำตามความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ครอบงำ

สรุปก็คือ สมองมนุษย์นอกจากทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย (รูป) แล้ว ก็ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับจิตใจ (นาม) 4 ประการของขันธ์ 5 ได้แก่ รับรู้ (วิญญาณ) รู้สึก (เวทนา) นึกคิดปรุงแต่ง (สังขาร) และจำ (สัญญา) โดยการรับรู้สิ่งกระทบแต่ละครั้งจะส่งเกิดกระแสประสาทวิ่งผ่านไปที่ "ศูนย์อารมณ์" (limbic system) ก่อน "ศูนย์เหตุผล" (prefrontal cortex) ตรงนี้ตรงกับการทำงานของขันธ์ 5 ที่เมื่อมีสิ่งกระทบก็จะเกิดความรู้สึก (เวทนา) ก่อน แล้วจึงเกิดความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ต่อยอดไปเรื่อยๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะปรุงแต่งจนทำให้เกิดทุกข์และการกระทำตอบโต้ที่ไม่ถูกไม่ชอบต่างๆ

ในชีวิตประจำวัน เรามักจะมีสิ่งกระทบเข้ามาทำให้เกิดความรู้สึก ซึ่งก่อให้เกิดอารมณ์และความทุกข์ใจมากบ้างน้อยบ้าง รุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้าง ทำให้จิตใจขาดความสงบสุข เสียสมาธิ เกิดความเครียด ทำให้ทำงานและแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องและการเจ็บป่วยทางกายต่างๆ

อุปกรณ์สำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว (การดับทุกข์) ก็คือ การเจริญสติ-ปัญญา ให้เกิด การรู้เท่าทัน ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ตั้งต้นจากการมีสิ่งกระทบเข้ามาให้เกิดการรับรู้ของเรา

เมื่อมีสติ-ปัญญารู้เท่าทัน ก็จะไม่ตอบโต้ไปตามความรู้สึก (การรับรู้ด้วย "ศูนย์อารมณ์" ) แต่จะชะลอเวลาให้เกิดการรับรู้ด้วย "ศูนย์เหตุผล" ซึ่งเหลื่อมกันเพียงชั่วสายฟ้าแลบ

ดังนั้น ถ้าปรารถนาในทางดับทุกข์ "แก้เซ็งสร้างสุข" ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องหมั่นเจริญสติ-ปัญญาอยู่เนืองนิตย์ ซึ่งมีเทคนิควิธีการอยู่หลายๆวิธี เช่น ฝึกสมาธิ ฝึกสติ สวดมนต์ ตามรู้อิริยาบถการเคลื่อนไหว (เช่น ลมหายใจ นั่ง นอน ยืน เดิน กิจวัตรประจำวัน เป็นต้น) ฝึกโยคะ รำมวยจีน เป็นต้น

เมื่อฝึกสติ-ปัญญาจนแข็งแรงก็จะสามารถตามดูรู้ทันความรู้สึกและความคิดต่างๆ จนสามารถหยุดและควบคุมมันได้ และจะไม่เกิดทุกข์ หรือเกิดเขม่าน้อยและไม่รุนแรงจนก่อโทษ

ขอฝากข้อเรียนรู้นี้ในวันวิสาขบูชาให้แฟนๆ ได้ไตร่ตรองแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

ข้อมูลสื่อ

350-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 350
มิถุนายน 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ