• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษา 'หืด' โดยพิสดาร

การรักษา 'หืด' โดยพิสดาร

“ฉันเป็นหืดจ้ะ พ่อหมอ” ป้าคนหนึ่งว่า

“อ้าว ทำไมป้าทราบแล้วหรือ” หมอถาม

“ก็ทำไมจะไม่ทราบเล่า ก็ฉันหอบเสียงดังฮี๊ดๆ นี่พ่อหมอ ใครๆ เขาก็รู้กันทั้งบาง”

ครับ ใครๆ ก็รู้จักหืด เพราะมันหอบดังฮื๊ดๆ

ทีนี้การหอบหืดมันมีหลายชนิด บางชนิดมันไม่ใช่หืด แต่มีหลักง่ายๆ ที่จะบอกว่าใช่หรือไม่ใช่หืด ดังนี้

หืดนั้นมันจะจับเป็นครั้งคราว ขณะที่ไม่เป็นหืดนั้นจะเหมือนคนดีๆ ทุกประการ คือทำงานได้ ออกแรงได้ ไม่เหนื่อย ไม่บวม แต่เวลามันจะเป็น ก็หอบขึ้นมาเสียงดังฮื้ดๆ

นี่ว่าถึงระยะแรกนะครับ แต่ถ้าปล่อยให้มันหอบบ่อยๆ เป็นสิบยี่สิบปี อาจเป็นโรคถุงลมพอง ได้ คราวนี้มันจะเหนื่อยตลอดเวลา เพราฉะนั้นจะต้องหาทางรักษาอย่าให้มันหอบบ่อยๆ ให้จงได้

หืดเกิดจากโรคแพ้ เช่น แพ้อากาศ แพ้ขนสัตว์ แพ้ฝุ่นละออง แพ้อาหารบางชนิด ฯลฯ และมันมีเรื่องของกรรมพันธุ์กับเรื่องของหืดแฝงอยู่ด้วย บางคนมีพ่อหรือแม่ ญาติพี่น้องเป็นหืดด้วยเหมือนกัน เวลาสบายอกสบายใจดีละก็มันไม่ค่อยหอบ แต่ถ้าไปทะเลาะกับใครมาเดี๋ยวเป็นได้เรื่อง หอบฮื้ดๆ ขึ้นมาเลย

แล้วทำไมต้องดังฮื้ดๆ ด้วย

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะกล้ามเนื้อที่อยู่ผนังของหลอดลมมันเกิดเกร็งตัวรัดให้หลอดลมตีบ ลมหายใจผ่านหลอดลมที่ตีบ จึงมีเสียงดังฮื้ดๆ ขึ้น

หลักในการรักษาและปฏิบัติตัวมีดังนี้ ครับ

1. ยากิน ยากินนี้เป็นพวกยาขยายหลอดลม ได้แก่ ยาพวกอะมิฟิลลิน(Aminophyllin)ขององค์การเภสัชกรรมก็มี เม็ดละประมาณ 10 สตางค์ ของบริษัทต่างๆ ก็มี เช่น ยาที่เรียกว่า เทดราล (Tedral) หรือ ฟรานอล (Franol) ราคาเม็ดละประมาณ 40 สตางค์ กินครั้งละ 1 เม็ด เมื่อเหนื่อยหรือหายใจไม่ออก บางคนที่กินยานี้อาจรู้สึกใจสั่นหรือตื่นเต้นนอนไม่หลับ เพรายาอะมิโน ฟิลลิน มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจและสมองด้วย อาจใช้ยากล่อมประสาท เช่น ไดอาซีแพม (เม็ดละ 25 สตางค์) หรือยาระงับประสาท เช่น ฟีโนบาร์บิทอล (Phenobarbital) (เม็ดละ 5 สตางค์) ร่วมด้วยก็ได้

ยาเม็ดแก้หอบหืดดังกล่าวนี้ คนเป็นหืดควรมีติดตัวไว้เสมอ ไม่ว่าเดินทางไปไหน เพรามันอาจหอบขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ ส่วนยาหืดที่ผสมเพร็ดนิโซโลน ซึ่งอาจรู้ได้โดยชื่อของมันมีคำว่า โลน หรือ โซน หรือ เพร็ด อยู่ด้วย ไม่ควรไปซื้อกินเป็นประจำ เพราะจะทำให้โรคดื้อยา

2. ยาฉีด คนที่กินยาดังกล่าวแล้วไม่ทุเลา หรือหอบรุนแรงมาก หมออาจจะฉีดยา ดังนี้

2.1 แอดรีนาลีน (Adrenaline) ความเข้มข้น 1: 1000 (เขามาทำเสร็จแล้วในหลอด) หลอดละ 1-2 บาท ฉีด 1/3 ซี.ซี. เข้าใต้ผิวหนัง โดยมากผู้ป่วยจะทุเลาหรือหายหอบภายใน 10-15 นาที

บางคนทุเลาแล้วหอบอีก หมออาจะฉีดยานี้ซ้ำอีกครั้งหรือสองครั้งตามความจำเป็น

2.2 ในคนที่ฉีดแอดรีนาลีน แล้วก็ยังไม่หายหอบ หมอจะใช้ อะมิโน ฟิลลิน อย่างฉีด (หลอดละ 3-4 บาท) โดยผสมยาน้ำ อะมิโน ฟิลลิน 250 มิลลิกรัม (1 หลอด) กับน้ำเกลือหรือกลูโคส จนเป็น 20 หรือ 50 ซี.ซี. ฉีดเข้าเส้น ช้าๆ ห้ามฉีดเร็วๆ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

2.3 ถ้าทำตามวิธีข้างต้นยังไม่หายหอบ หมอจะเอา อะมิโน ฟิลลินอย่างฉีด 500 มิลลิกรัม (2 หลอด) ผสมน้ำเกลือ หรือน้ำกลูโคส ครบ 500 ซี.ซี. แล้วหยดเข้าเส้น ทีละหยดๆ

2.4 ถ้าทำดังกล่าวยังไม่หายหอบ หมอจะใช้ยาพวก คอร์ติโคสเตอรอยด์ (สเตอรอยด์ก็เรียก) เช่น เด๊กซ่าเมธาโซน (Dexamethasone) ครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม (1-2 หลอด หลอดละประมาณ 15 บาท) ฉีดเข้าเส้น

3. การเลี่ยงและลดการแพ้ ผู้ที่หอบบ่อยๆ ควรเลี่ยงหรือลดการแพ้ ดังนี้

3.1 สังเกตดูว่าแพ้อะไร เช่น ความเย็น ฝุ่นละออง ขนสัตว์ ยา อาหารบางอย่าง ฯลฯ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งนั้นๆ

3.2 โรงพยาบาลบางแห่ง มีการฉีดสารหลายอย่างเข้าไปในผิวหนังเพื่อดูว่าแพ้อะไร เมื่อทราบว่าแพ้สารอะไรแล้ว หมอจะฉีดสารนั้นครั้งละน้อยๆ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อว่าทำให้ร่างกายจะได้คุ้นเคยกับสารนั้นๆ ต่อไปจะได้ไม่แพ้ ซึ่งเรียกกันว่า “วิธีลดภูมิแพ้” หรือ “ดีเซนสิไทเซซั่น” (Desensitization)

วิธีนี้ก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ถ้าหมอเขาแนะนำให้ฉีดสารด้วยวิธีนี้ควรถามหมอว่าจะคิดราคาอย่างไร ถ้าหมอคิดแพงและท่านก็ไม่ค่อยมีสตางค์ก็ไม่จำเป็นต้องไปขายข้าวของหรือขายไร่ขายนาเพื่อรักษาด้วยวิธีที่ว่านี้

4. การระวังรักษาตัวโดยทั่วไป

4.1 ในคนที่เป็นหืดส่วนใหญ่จะจับหืดเวลาอากาศเย็น เพราะฉะนั้นต้องรักษาความอบอุ่นของร่างกายให้เพียงพอ

4.2 ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย และเพื่อให้ร่างกายได้น้ำเพียงพอ ทำให้เสมหะออกง่ายอีกด้วย

4.3 พยายามอย่าให้เป็นหวัดในคนที่เป็นหืดถ้าเป็นหวัดเจ็บคอและมันจะต่อไปหอบหืดเลย เพราะฉะนั้นต้องหลีกเลี่ยงและป้องกันการเป็นหวัดเจ็บคอ โดยรักษาความอบอุ่นของร่างกาย นอนให้เพียงพอ อย่าเที่ยวหรือดื่มสุราจนร่างกายอ่อนเพลีย และออกกำลังกายเป็นประจำ

4.4 พยายามรักษาอารมณ์ การกระทบกระเทือนทางจิตใจ จะทำให้จับหืดได้ ฉะนั้นต้องหัดใจเย็นๆ พยายามรักษาเนื้อรักษาตัว อย่าไปทะเลาะเบาะแว้งกับใคร หลีกเลี่ยงจากการที่จะต้องกระทบกระเทือนจิตใจ

ครับ ถ้าหัดอย่าโลภ อย่าโกรธ อย่าหลง ได้มากเท่าไร จิตใจก็จะสบายขึ้นมากเท่านั้น และจะเป็นหืดน้อยลง

5. การรักษานอกแบบ

คนเป็นหืดจำนวนมาก หลังจากกินยา ฉีดยาแล้วก็ยังหอบอยู่บ่อยๆ จนแผ่นตรวจโรคหนาเตอะ เพราะมาโรงพยาบาลอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวตี 1 ตี 2 มาฉีดยา บางทีฉีดยาหายหอบไปได้ชั่วโมง สองชั่วโมง หอบอีกแล้ว หอบๆๆ หอบจนโทรมทั้งกายและใจ น่าสงสารเป็นที่สุด

การรักษาทางหยูกยาต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเรียกว่า การรักษาตามแบบ เมื่อรักษาตามแบบแล้วยังไม่หาย ส่วนใหญ่ก็รักษาแบบเดิมไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่หายไปเรื่อยๆ แล้วก็ทอดอาลัยตายอยาก

ต่อไปนี้เป็น การรักษานอกแบบ ที่ได้ผลดีมาเยอะแยะแล้วครับ หยูกยาต่างๆ ก็คงใช้ตามที่กล่าวข้างต้น แต่เพิ่มด้วยการปฏิบัติดังต่อไปนี้

5.1 จะต้องปลุกใจตัวเองทุกวันว่าเราจะหายๆ ถ้าท้อถอยคิดว่า มันไม่หาย มันก็จะไม่หายจริงๆ จะต้องมีกำลังใจ และคิดว่ามันจะต้องหายๆ แล้วมันก็จะหายได้จริงๆ

5.2 หัดหายใจเข้าออกยาวๆ ลึกๆ คนบางคนหายใจตื้นเป็นนิสัย โดยเฉพาะคนที่มีเรื่องหงุดหงิดกังวลใจ เมื่อหายใจตื้นก็รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ดังที่ต้องถอนหายใจเป็นครั้งคราว การถอนหายใจก็คือ การหายใจลึก ทำให้รู้สึกค่อยคลายความอึดอัด เพราะฉะนั้น จะต้องหัดหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ บ่อยๆ ถ้าว่างหรือนึกได้ก็หายใจเข้าออกเสียให้ลึกๆ เอ้า เอาเลยครับ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกลึกๆ จะพบว่ามันทำให้รู้สึกปลอดโปร่งสดชื่นขึ้น ความปลอดโปร่งสดชื่นจะทำให้หอบหืดน้อยลง คนไม่เป็นหืดก็ควรจะลองเสียด้วยนะครับ

5.3 บริหารร่างกาย ขณะที่ไม่หอบหืด ควรบริหารร่างกายเป็นประจำ ควรทำเช้าเย็น ทำท่ากายบริหารท่าต่างๆ แบบที่ทำกันตามโรงเรียน หรือตามที่สมาคมกีฬาเวชศาสตร์พิมพ์แจกหรือทำโยคะ หรือรำมวยจีนก็ได้ แบบไหนก็ได้ ข้อสำคัญต้องทำเป็นประจำทุกวัน ควรแถมท้ายด้วยการยุบข้อหรือวิดพื้น และกระโดดเชือก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย

คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นหวัดได้ง่าย และเป็นโรคแพ้น้อยลง ทำให้โรคคัดจมูกและโรคหืดบรรเทาลงหรือหายไป

5.4 ทำสมาธิ การทำสมาธิทำให้การหอบหืดน้อยลงอย่างชงัด ชายคนหนึ่งเป็นหืดเสียงอมจนลาออกจากงาน หมอแนะนำให้ทำสมาธิ คนไข้บอกว่าเคยทำอยู่แล้ว และรู้สึกว่าสมาธิช่วยให้หอบน้อยลง แต่มีปัญหาที่ภรรยาคอยรังควาน หาว่าเป็นคนงมงาย

หมอเชิญให้พาภรรยามาคุย ภรรยารับว่า ด่าสามีจริง เมื่อสามีทำสมาธิ อีกรายหนึ่งเป็นพระ เป็นหืดเสียจนโทรมเหมือนกัน หมอแนะนำให้ทำสมาธิ คืนเดียวเท่านั้น หายหอบและเสียงวี๊ดหายไป (เสียงวี๊ด= เสียงหายใจของคนเป็นหืดที่หมอได้ยินโดยเครื่องฟัง)

การทำสมาธิอาจจะเริ่มทำอย่างนี้ ก่อนนอนและเมื่อตื่นนอนเข้าไหว้พระสวดมนต์ (จะไหว้เจ้าหรือไหว้พระเจ้าก็ได้) สวดช้าๆ นานๆ และให้จิตใจอยู่ที่คำสวด เช่น นโม ตัสสะ ก็ให้มองเห็น นโม ตัสสะ เด่นชัด ภควโต ก็ให้มองเห็น ภควโต อย่างนี้เรื่อยๆ ไป

เมื่อสวดมนต์เสร็จแล้วให้นั่งสงบ อาจกำหนดลมหายใจ หรือ บริกรรมคำอะไรซ้ำ เช่น พุทโธ พุทโธ ก็ได้ ในที่นี้จะอธิบายวิธีกำหนดลมหายใจ ให้ทำดังนี้ คือ หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ ให้รู้ตัวอยู่ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออกช้าๆ ยาวๆ ก็ให้รู้ตัวอยู่ว่ากำลังหายใจออก ทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าสามารถกำหนดรู้ทั้งลมหายใจ และหายใจออก ติดต่อกันตลอดเวลาโดยไม่วอกแวกไปคิดทางอื่น สักพักหนึ่งจะรู้สึกโปร่งเบาสบาย

แต่เมื่อหัดใหม่ๆ มักจะไม่ได้ เพราะจิตมันหลุกหลิกเหมือนลูกลิง ไม่กำหนดอยู่กับลมหายใจ คอยวอกแวกไปทางอื่นอยู่เรื่อยๆ อาจใช้การนับกำกับไปด้วย คือ ขณะกำลังหายใจเข้าก็นับว่า “เข้า 1” หายใจออก ก็นับว่า “ออก 1” เข้า 2-ออก 2 เข้า 3- ออก 3 ถ้านับได้ 1 ถึง 5 โดยจิตกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลา ก็ขอแสดงความยินดีด้วย ต่อไปนับ 1 ถึง 6 แล้วก็ขึ้นต้นใหม่ 1 ถึง 7...จน 1 ถึง 10 ถ้าสามารถกำหนดรู้ลมหายใจได้ติดต่อกัน 1 ถึง 10 ก็นับว่าดีมากแล้ว ตั้งต้นใหม่ 1 ถึง 5 1 ถึง 6... แต่ถ้าจิตสงบดีแล้ว ไม่ต้องนับก็ได้ เพียงแต่กำหนดรู้ว่าหายใจเข้า หายใจออก

ขณะที่จิตเป็นสมาธิสงบ ท่านจะพบกับความโปร่ง เบา สบาย เป็นความสุขที่ท่านไม่เคยพบมาก่อน เรียกว่า “สมาธิสุข”

ถ้าขณะที่จิตเป็นสมาธิเกิดไปเจออะไรเข้าบ้าง ก็อย่าไปกลัว หรืออย่าตกใจมันเหมือนฝันไปได้ การที่เห็นอะไรในฝันนั้นเรียกว่า สุบินนิมิต การเห็นอะไรในสมาธิก็เรียกว่า สมาธินิมิต สมาธินี้ถ้าทำอยู่เป็นประจำ จะช่วยป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้หลายอย่าง รวมทั้งถ้าให้อายุยืนด้วย

เรื่องหืดนั้นไม่ต้องพูดถึงล่ะครับ มันต้องค่อยยังชั่วแน่ๆ ข้อที่ต้องระวังก็คือ สมาธิมันทำให้รู้สึกสุขสบาย เมื่อสุขสบายก็ติดใจ เหมือนคนติดฝิ่น ตรงนี้แหละที่มีผู้โจมตีว่าสมาธิเป็นยาเสพติด แต่เรื่องการเสพสุขจากสมาธินั้นเป็นเรื่องของฤาษีชีไพร ไม่ใช่เรื่องของทางพุทธ ทางพุทธนั้นมุ่งต่อไปที่ ปัญญา ฉะนั้นทางพุทธจึงแนะนำว่า อย่าไปติดสุข เพราะการ “ติด” ทุกชนิด ไม่ว่า ติดยา ติดบุคคล ติดความคิด ติดอุดมการณ์ ติดศาสนา ฯลฯ ล้วนเป็นเครื่องบดบังปัญญา

เอาละครับ ผมยังไม่พูดถึงเรื่องปัญญาในที่นี้ครับ

ขอให้ท่านหายจากโรคหืด และโรคอื่นๆ ก็แล้วกันนะครับ

ข้อมูลสื่อ

8-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 8
ธันวาคม 2522
โรคน่ารู้
ศ.นพ.ประเวศ วะสี