• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้โดยสารขาเข้า

 ผู้โดยสารขาเข้า


ฉบับก่อน “ทหารพีของอาโก” เล่าเรื่องสนามบิน หรือปอดของอาโกมาแล้ว แต่ผมก็คงต้องเท้าความสักหน่อย เพื่อให้เรื่องมันปะติดปะต่อกัน อาโกหรือปอดของอาโก มีจ้าวโรคอาศัยอยู่จำนวนมากคือเชื้อ วัณโรค ขณะที่อาโกไอ ฟองน้ำลายจะกระจายไปในอากาศ พร้อมกับพาเอาเชื้อวัณโรคติดไปกับละอองน้ำลายด้วย เหมือนกับการเป่าน้ำสบู่ด้วยหลอดกาแฟ ทหารพีของอาโกเรียกวัณโรคที่ติดไปกับละอองน้ำลายว่า ผู้โดยสารขาออก



                          
                                                        รูปภาพเชื้อวัณโรค

 

จริง ๆ นะครับ วัณโรคเป็นผู้โดยสารขาออกของสนามบินปอดอาโก เพราะส่งออกไปนอกประเทศ หรือนอกตัวอาโก วัณโรคเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแท่ง ย้อมไม่ติดสีธรรมดา แต่จะติดสีพิเศษ การดำรงชีพก็แตกต่างกว่าแบคทีเรียทั่ว ๆ ไป คือการเจริญเติบโตของมันจะช้ากว่า จะแบ่งตัวแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 4 วัน ส่วนแบคทีเรียธรรมดา การแบ่งตัวเกิดขึ้นในเวลาเป็นนาที หรือชั่วโมงเท่านั้น วัณโรคพบมากในประชากรไทย โดยเฉพาะในที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เช่น กรุงเทพฯ เรียกว่าทุก ๆ คนเคยได้รับเชื้อวัณโรคมาแล้วทั้งนั้น แต่การจะเกิดโรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย การต่อต้านเชื้อของแต่ละคน จำนวนของเชื้อที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย และความรุนแรงของเชื้อประกอบกันด้วย

เมื่อตรุษจีนปีนี้เอง หมวยใหญ่พาลูก 2 คนมาอยู่ด้วย เพราะมีความยุ่งยากเกี่ยวกับครอบครัว บ้านอาโกเป็นเพียงห้องแถวแคบ ๆ หมวยใหญ่และลูก ๆ ก็ต้องนอนห้องเดียวกับอาโก ลูกคนโตชื่อตี๋ใหญ่ อายุประมาณ 6 ขวบ ซึ่งแรงกำลังซน ส่วนคนเล็กชื่อหมวยเล็ก อายุเพิ่ง 2 ขวบ ไม่ค่อยแข็งแรงนัก ชอบเจ็บไข้บ่อย ๆ อาโกรักหลานทั้งสองมาก มักจะหมั่นดูแลอุ้มชูเสมอ ๆ อาโกไม่เคยรู้ตัวเองเลยว่าเป็นวัณโรคและก็ไม่รู้วิธีป้องกันด้วย จึงไอ จาม โดนหลานทั้งสองเป็นประจำ

ผู้โดยสารขาออกของอาโกกำลังกลายเป็นผู้โดยสารขาเข้าไปสู่สนามบิน ปอดของเด็กทั้งสองแล้วละครับ เจ้าหนูทั้งสองต่างก็สูดเอาเชื้อวัณโรค ผ่านจากจมูกเข้าคอผ่านหลอดเสียง เข้าไปในหลอดลม และเข้าไปในถุงลมแล้วก็ติดอยู่ที่นั่น จ้าวโรควัณโรคมีความสามารถเกาะติดผนังถุงลม และเข้าไปในเนื้อเยื่อของปอด ทหารพีของถุงลม (Alveolar macrophage) เห็นเข้าก็รีบตะโกนกันต่อ ๆ ไปว่า สนามบินถูกข้าศึกบุก เกิดการรวมพลต่อต้าน การต่อต้านของทหารพีคือ กิน กิน กิน จับเชื้อวัณโรคกินกันใหญ่ ผมว่าคงอร่อย โดยทหารพีหลงกลข้าศึก คิดว่ากินแล้วจะกลืนได้สบาย ที่ไหนได้เจอเอากระดูกชิ้นใหญ่ กลืนไม่ลงเลยครับ ทหารพีฆ่าวัณโรคที่กินเข้าไปไม่ได้ แถมยังถูกวัณโรคที่อยู่ในท้องทหารพี ใช้ทหารพีเป็นอาหารเลี้ยงตัวเองจนอ้วนพี แล้วก็แบ่งตัวหรือเรียกง่าย ๆ ว่า ออกลูกออกหลานในตัวทหารพีนั่นแหละครับ ทหารพีชักแย่แล้ว ต้องถอยกรูดไปหาต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองของแต่ละคนก็มีความสามารถแตกต่างกันไป เช่น ของตี๋ใหญ่ และ หมวยเล็ก เป็นต้น

ตี๋ใหญ่เป็นเด็กสุขภาพดี กลไกของการต้านทานโรคอยู่ในเกณฑ์ดี ต่อมน้ำเหลืองของตี๋ใหญ่สามารถ
ล้อมเก็บเอาตัวแบคทีเรียไว้ได้ ไม่กระจายไปที่อื่น แต่วัณโรคยอดอดทน ยังมีชีวิตอยู่ในต่อมน้ำเหลืองนั้นได้ โดยตี๋ใหญ่ไม่ได้เกิดอาการหรือโรควัณโรคเลย เหมือนกับการเก็บเอาเชื้อไว้ในกล่องที่ปิดฝาสนิทนั่นแหละครับ ส่วนหมวยเล็กอายุเพิ่ง 2 ขวบ สภาพการป้องกันโรคยังไม่แข็งแรงพอ แถมยังอ่อนแอกว่าเด็กอื่น ๆ ด้วย เมื่อได้รับเชื้อ ทหารพีของหมวยเล็กมีการต่อต้านแบบเดียวกับตี๋ใหญ่ในระยะแรก ๆ แต่ต่อมาเชื้อโรคทำให้ทหารพี ท้องแตกตาย แล้วมาอยู่ภายนอกเซลล์ ทหารพี ทั้งบริเวณต่อมน้ำเหลืองและเนื้อปอด ไม่สามารถเก็บกักจ้าวโรคได้ ทำให้มันแพร่ออกไป ๆ

เนื้อปอดของหมวยเล็กเริ่มถูกทำลายลง ทำให้เกิดการตายของเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อปอด เกิดเป็นสารเละ ๆ สีเหลือง (Caseation-คาสิเอชั่น) คล้ายไข่แดงของไข่เค็มดิบ หมวยเล็กโชคไม่ดีครับ แนวป้องกันอ่อนแอมาก วัณโรคก็แบ่งตัวตามชอบใจ มีการแพร่กระจายไปจนเข้าหลอดเลือดดำ เชื้อวัณโรคก็กระจายไปตามเส้นเลือดดำทั่วปอดได้ การแพ้สงครามแบบนี้ พบมากในเด็กที่ไม่เคยได้รับเชื้อวัณโรคมาก่อนเลย นอกจากกระจายไปทั่วปอดแล้ว ยังกระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย รวมทั้งน้ำไขสันหลังทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจตายหรือพิการได้
                                                                           
ส่วนตี๋ใหญ่น้าของผม เมื่อทหารพีกินวัณโรคเข้าไปแล้ว เชื้อจะแบ่งตัวเจริญได้ในตัวทหารพี แต่ทหารพีก็แน่นะครับ รีบส่งข่าวบอกพวกผมทหารที (T-lymphocyte-ทีลิมโฟซัยท์) ให้รีบมาล้อมรอบวัณโรคไว้ เพราะทหารพีเอาไว้ไม่อยู่แล้ว เหมือนหน้าด่านแตกแหละครับ นอกจากจะส่งข่าวดาวเทียมบอกผมแล้ว ทหาร-พียังแปลงกายเป็นยักษ์ (Giant cell) ช่วยกันต่อสู้วัณโรค ตอนนี้วัณโรค, ทหารยักษ์ อยู่ตรงกลาง มีทหารทีตัวอ่อนๆ มากมายล้อมรอบไว้อย่างแน่นหนา พวกผมมีฤทธิ์นะครับ ไม่ได้มาล้อมเอาไว้เฉย ๆ ผมสามารถปล่อยพิษหรือจะเทียบกับก๊าซพิษก็ได้ครับ เพราะพิษของผมจะทำลายทุกอย่างที่อยู่ใกล้ แม้แต่เซลล์ของตัวนายผมเอง พิษของผมเข้าทำลายเซลล์เชื้อโรคได้ แต่นั่นแหละครับ ถึงจะมีพิษอย่างไรจ้าวโรคก็ยังไม่ตายหมด เพราะพิษของพวกผมเข้าไปได้ไม่ถึงทุกตัว บางตัวจึงยังมีชีวิตอยู่ได้นาน โดยที่มีพวกผมล้อมไว้ นาน ๆ เข้า ร่างกายก็ส่งธาตุหินปูน หรือ แคลเซี่ยมมาล้อมให้แน่นหนาขึ้น นายเชื้อวัณโรคก็เลยอยู่ในปอดของนายผมเฉย ๆ ทำอะไรกันไม่ได้

คุณเห็นไหมครับ สนามบินเป็นทางติดต่อกับโลกภายนอก คุณควรรักษาไว้ให้แข็งแรง วิธีรักษาก็พูดง่ายครับ แต่ทำยากส์ คือ พยายามหายใจในอากาศบริสุทธิ์ เห็นไหมครับแค่ข้อเดียว ชาวกรุงก็ไม่มีทางจะทำได้แล้ว เพราะไม่มีทางจะหนีท่อควันไอเสียไปได้ แต่ท่านที่อยู่ต่างจังหวัดก็นับว่าโชคดีครับ เพราะมีแต่อากาศบริสุทธิ์สดชื่นตลอดเวลา พยายามสูดหายใจแรง ๆ ทั้งเข้าและออกทุก ๆ เช้า เพื่อบริหารปอดให้แข็งแรงอีกอย่างหนึ่งครับ อย่าพยายามพาก๊าซพิษจากบุหรี่มารมปอดนะครับ เพราะก๊าซพิษจากบุหรี่จะทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจและยังมีพิษอีกหลายอย่างครับ


 

ภาคพิเศษ
วัณโรค ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Tuberculosis (ทูเบอคูโลลิส) หรือชื่อย่อว่า T.B. (ทีบี) ครับ เชื้อวัณโรค คือ Mycobacterium tuberculosis (มัยโคแบคทีเรียมทูเบอคูโลลิส) เป็นแบคทีเรียชนิดแท่ง ติดสีกรัมไม่ดี แต่จะติดสีที่ย้อมพิเศษ คือ ติดสี Acid fast (แอสิด ฟาสต์) บางครั้งจึงอาจถูกเรียกรวม ๆ ว่า Acid fast bacilli (แอสิด ฟาสต์ บาซิลไล) ทางเข้าของเชื้อวัณโรค คือ หายใจเข้าไปสู่ปอด ส่วนใหญ่ T.B. (ทีบี) มักเป็นบริเวณปอด แต่อาจเกิดที่อื่น ๆ ได้ เช่น ต่อมทอนซิล, ลำไส้, ต่อมน้ำเหลือง, สมอง, วัณโรคเป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ

เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเม็ดเลือดขาว และ Macrophage (แม็คโครเฟก) จับกิน แต่วัณโรคเป็นเชื้อที่สามารถเจริญเติบโตใน Macrophage ได้ และทำให้เซลล์แตกได้ ร่างกายจะมีการต่อต้านต่อเชื้อโรคโดยการที่พยายามทำลายเชื้อวัณโรค Macrophage จะกระตุ้นให้ T-lymphocyte (ทีลิมโฟซัยท์ หรือ เซลล์ที) เปลี่ยนแปลงเป็นตัวอ่อนล้อมรอบเชื้อและเซลล์ทีตัวอ่อนสามารถปล่อย สารลิมโฟไคเนส (Lymphokines) ซึ่งเป็นสารพิษต่อเซลล์หรือทำลายเซลล์ที่อยู่ใกล้มันทุกชนิดได้ ทั้งแบคทีเรียและเซลล์ของตัวผู้ป่วยเองด้วย การทำลายเซลล์ทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งกระบวนการแพ้เรียกว่า Delayed-type (ดีเลย์-ทัยพ์)

ผู้ที่ได้รับเชื้อวัณโรคครั้งแรก ส่วนใหญ่ร่างกายจะต้านทานไว้ได้ แต่เชื้อวัณโรคก็จะไม่ตาย เพียงแต่ถูกล้อมเอาไว้ไม่ให้เจริญเติบโตได้ แต่ถ้าต้านทานไม่ได้ เชื้อจะเจริญมากขึ้น และมักจะกระจายไปตามเส้นเลือดดำของปอด ทำให้แพร่กระจายจากส่วนกลางไปยังชายปอด เป็นแบบ Miliary tuv\berculosis (มิลิอารี่ ทูเบอคูโลลิส) หมายความว่า เป็นวัณโรคชนิดแพร่ไปทั่วตัว ส่วนในผู้ที่มีความต้านทาน จะมีวัณโรคอยู่ในร่างกาย แต่จะมีกระบวนการต่อต้านแบบ Granulomatous type (แกรนนูโลมาตัส) จะเปลี่ยนแปลงเป็น Giant cell (เซลล์ยักษ์) อยู่บริเวณเชื้อวัณโรค และมีพวก Lymphocyte (ลิมโฟซัยท์) ล้อมรอบ ต่อไปก็จะมี Fibrous tissus (ไฟบรัส ทิสชู หรือ เนื้อเยื่อเส้นใย) และแคลเซี่ยม (หินปูน) ไปล้อมไว้อีกทีหนึ่ง เชื้อวัณโรคจะยังคงไม่ตาย แต่จะถกล้อมกรอบไว้ ส่วนใหญ่เชื่อว่า วัณโรคที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ร้อยละแปดสิบเกิดจากเชื้อวัณโรค ที่ผู้ป่วยมีอยู่ในตัวเอง ส่วนน้อยหรืออีกประมาณร้อยละยี่สิบ เกิดจากการได้รับเชื้อเข้าไปใหม่

การป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคในตัวเรา แพร่กระจายทำให้เกิดโรคได้ ควรหมั่นออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์, ไข่, นม, น้ำเต้าหู้, หรือน้ำนมถั่วเหลือง ตื่นเช้าหายใจเข้าและออกแรงๆ วันละ 10 ครั้ง และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษต่อปอด คือ ไอเสียทุกชนิด ส่วนผู้ที่กำลังเป็นวัณโรคอยู่แล้วควรทำความเข้าใจว่าเชื้อวัณโรคเจริญช้า การรักษาต้องใช้เวลานานเป็นปี ต้องอาศัยความอดทน ความเข้าใจอย่างดี จึงจะหายจากโรคนี้ได้ การป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังผู้อื่น การไอ, จาม ควรใช้ผ้าปิดปากจมูกทุกครั้ง บ้วนแสลดลงในกระโถนหรือถุงพลาสติกและถ้าทำได้ควรใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรคลงไปด้วย เช่น น้ำยาไลโซล (มีขายตามร้านขายยาทั่วไป) เอาละครับ ผมขอลาไปก่อน

                                                                                                                                          สวัสดีครับ
                                                                                                                                         นายทหารที

 

ข้อมูลสื่อ

13-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 13
พฤษภาคม 2523
ทันโรค
พญ.ศมนีย์ ศุขรุ่งเรือง