• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพทย์ชนบทดีเด่น

แพทย์ชนบทดีเด่น

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2523 แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัล “แพทย์ดีเด่นในโรงพยาบาลอำเภอ” ให้แก่ นายแพทย์มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้มีผลงานกระตุ้นให้แพทย์อำเภอตื่นตัวต่อปัญหาสาธารณสุข จนสามารถจัดตั้ง “สหพันธ์แพทย์ชนบท” หรือ “ชมรมแพทย์ชนบท” ในปัจจุบันขึ้นได้

นิตยสาร “หมอชาวบ้าน” ได้มีโอกาสพบกับ นายแพทย์มานิตย์ เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในการประชุมแพทย์โรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศ เรื่อง “การสนับสนุนและการปรับปรุงการดำเนินงานของโรงพยาบาลอำเภอ” ซึ่งจัดโดย ชมรมแพทย์ชนบท ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ
หมอชาวบ้าน” จึงขอพาท่านผู้อ่านไปพบกับ นายแพทย์มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ แพทย์ชนบทตัวอย่าง ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นผู้บุกเบิกงานสาธารณสุขให้เข้าถึงชาวชนบทของเราได้มากยิ่งขึ้นอันตรงกับปณิธานของนิตยสาร “หมอชาวบ้าน”

หมอชาวบ้าน : อยากทราบความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการตั้งชมรมแพทย์ชนบทค่ะ

นพ.มานิตย์ :  จริง ๆ แล้วมันเริ่มจากปัญหาด้านสาธารณสุขของบ้านเรา ปัญหาหนึ่งก็คือ ระดับอำเภอนี่นะยังขาดหมอ ยังไม่ค่อยมีหมอไปอยู่ เพราะปัญหามันเยอะแยะ เช่นไปอยู่แล้วอยู่ได้ยาก ทำงานไมค่อยได้ผล ก็เลยไม่อยากอยู่ หรือความรู้ ความสามารถที่เรียนมา เอาไปใช้ในอำเภอไม่ค่อยได้ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการสนับสนุนจากกระทรวงบ้าง พวกหมอที่จบใหม่ก็รู้สึกอยากจะไปทำงานในอำเภอ แต่ทำแล้วก็มีปัญหาอุปสรรคมาก ทุกคนทำงานกันค่อนข้างจะลำบากนะฮะ อันนี้ก็เป็นปัญหาที่หมอระดับโรงพยาบาลอำเภอประสบอยู่ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะมารวมตัวกัน เพื่อช่วยกันแสดงความคิดเห็น หรือช่วยเหลือกันและกัน ในด้านแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของชมรมแพทย์ชนบทที่มารวมตัวกัน

หมอชาวบ้าน : กิจกรรมที่ผ่านมาของชมรมฯ มีอะไรบ้าง?

นพ.มานิตย์ : ชมรมฯของเราถ้าว่าจริง ๆ ก็ตั้งมาตั้งแต่ในปี 2519 ประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ คือ เริ่มปรึกษากันเมื่อปี 2518 แต่เริ่มมาจัดระบบงานกันก็ตอนต้นปี 2519 หลังจากนั้นสภาพทางการเมืองไม่ดีนัก ในช่วงเดือนตุลาคม 2519 ก็เลยต้องพักกิจกรรมไป ระยะแรกที่ตั้ง เราตั้งชื่อว่า “สหพันธ์แพทย์ชนบท” เราก็มีการประชุมแพทย์ในภาคต่าง ๆ ออกวารสารสมัยนั้นคุณหมออุเทน ที่อำเภอปากช่อง นครราชสีมา เป็นประธานอยู่ในระยะแรกเราก็ร่วมกันปรึกษาหารือ ช่วยกันวางระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข หลังจากพักกิจกรรม แล้วก็หลังจากมีการปฏิวัติอะไรกัน สภาพทางการเมืองก็ดีขึ้น เราก็ได้มารวมตัวกันใหม่อีกครั้งหนึ่งใช้ชื่อว่า “ชมรมแพทย์ชนบท” เริ่มดำเนินการใหม่จริง ๆ ก็ปี 2521

หมอชาวบ้าน :
ช่วงที่พักกิจกรรมไป เป็นระยะเวลานานเท่าไรคะ”
นพ.มานิตย์ : 1 ปีเต็ม ๆ มาเริ่มต้นปี 2521

หมอชาวบ้าน : แล้วช่วงหลังนี่มีกิจกรรมอะไรบ้าง

นพ.มานิตย์ : ในปีแรกก็มีกิจกรรมทางด้านออกวารสาร มีจัดประชุมปรึกษาหารือกับกระทรวงในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ออกเยี่ยมเยือนสมาชิก ให้คำแนะนำให้การช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ แก่สมาชิกเท่าที่จะทำได้ ทำนองนี้ละฮะ คือ เรามีงาน 2 ระดับ คือ ระดับโรงพยาบาลอำเภอ ชมรมก็ช่วยประสานงานวางแผนที่จะปรับปรุงงาน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็น และวิธีการทำงาน และมีการประชุมปรึกษาหารือ หารูปแบบในการดำเนินงานโรงพยาบาลอำเภอ เพราะว่าโรงพยาบาลอำเภอ เพิ่งจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมาประมาณ 5-6 ปีซึ่งยังไม่มีรูปแบบในการทำงานที่แน่นอน เท่าที่ผ่านมา หมอคนไหนอยากจะทำอะไรก็เชิญทำตามสะดวก กระทรวงก็ยังไม่มีรูปแบบ ดังนั้นตั้งแต่นั้นมา งานเราก็มีอีกระดับหนึ่งคือ การเข้าไปร่วมกับทางกระทรวงฯ โดยการเข้าไปร่วมวางรูปแบบว่า โรงพยาบาลอำเภอ ควรจะทำอะไรบ้าง งานควรจะมีอะไรบ้าง ถ้ามีปัญหาจะแก้ไขยังไง
อีกอันหนึ่ง เราก็พยายามหาทางที่จะส่งเสริมให้หมออยากไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอกันและเมื่อไปอยู่แล้ว ก็อยากจะส่งเสริมให้อยู่กันนาน ๆ อันนี้ คือหลักการ แต่ว่าในความเป็นจริงมันก็มีปัญหาอุปสรรคเยอะแยะ

แต่ในปีที่ผ่านมา ครั้งหลังสุดนี้ ปี 2522 เราก็เริ่มขยายงานออกไปอีก คือเรามองในแง่ที่ว่า ถ้าชมรมทำกันอยู่อย่างนี้ ใช้คนน้อย ช่วยกันน้อย มันลำบาก เราก็แบ่งให้มีภาคต่าง ๆ ก็จัดเป็นชมรมฯ ภาคคล้าย ๆ กับเป็นสาขาทำนองนี้นะ จัดดำเนินกิจกรรมภายในภาค แล้วก็สนับสนุนงานของชมรมใหญ่ เป็นตัวประสานงานในระดับประเทศ งานของเราในตอนนี้ได้กระจายไปครบทุกภาค ข้อดีอันหนึ่งก็คือ งานของภาคจะสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลอำเภอได้มากกว่า ดีกว่าที่จะมีกรรมการชุดเดียว ดังนั้นงานที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลอำเภอ จะเป็นงานของภาค ส่วนงานที่ต้องเกี่ยวกับระดับกระทรวง ก็จะเป็นงานของชมรมกลางระดับ-ประเทศ ชมรมฯ กลางจะเป็นตัวประสาน และนอกจากผลที่จะได้ทางด้านการปรับปรุง การดำเนินงานโรงพยาบาลอำเภอ หรือการสาธารณสุขระดับอำเภอแล้ว เราก็ยังพยายามที่จะทำงานให้ได้ผลแก่ประชาชนโดยตรงไปเลยด้วยเช่น ให้ด้านสุขศึกษา เราได้ออกข่าวสารของเราในรูปการ์ตูนสุขศึกษา ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐทุกวันอาทิตย์ แล้วก็มีจุลสารสำหรับหมอในโรงพยาบาลอำเภอ ให้ข่าวสารด้านวิชาการ การสาธารณสุขวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระดับโรงพยาบาลอำเภอ และมีวารสารออกทุก 3 เดือน เราก็ส่งไปตามห้องสมุด, โรงเรียนแพทย์, แพทย์โรงพยาบาลจังหวัด, แพทย์ในกระทรวงฯ เท่ากับเป็นการให้ภาพพจน์ของแพทย์โรงพยาบาลอำเภอให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ
ที่พูดมาทั้งหมดนี่ก็เป็นงานที่เราทำอยู่ ซึ่งยังมีปัญหาและอุปสรรคมากอยู่นะฮะแต่ก็คิดว่าจะทำกันไปเท่าที่ยังมีกำลังอยู่

หมอชาวบ้าน :
พอจะยกตัวอย่างปัญหา ที่ชัด ๆ ได้ไหมคะ?
นพ.มานิตย์ : ปัญหานี่จริง ๆ แล้วก็คือ ข้อจำกัดนะฮะ เช่น ข้อจำกัดทางด้านเวลา, ความห่างไกลกันเวลาจะรวมกันทีก็ลำบาก แล้วด้านการเงิน และประการสำคัญ ถึงแม้เราจะมีวัตถุประสงค์ของเราที่แน่ชัดว่า ต้องการปรับปรุงงานสาธารณสุข ระดับอำเภอให้มันดีขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว เราก็รู้ว่า ปัญหาสาธารณสุขมันไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างโดด ๆ แต่มันขึ้นต่อปัญหาอื่น ๆ ด้วย เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง ซึ่งพอเราคิดจะปรับปรุง เมื่อไปกระทบปัญหาอื่นเข้ามันก็ตัน อันนี้บางทีมันก็ยากที่จะทำให้การสาธารณสุขดีขึ้นได้เราเท่ากันในส่วนของเราเท่าที่จะทำได้นะฮะ การจะแก้ไขทั้งหมดก็คงต้องอาศัยเวลา

หมอชาวบ้าน : ชมรมแพทย์ชนบทได้มีส่วนผลักดัน งานสาธารณสุขมูลฐาน(เบื้องต้น) ให้ไปสู่ชาวบ้านได้อย่างไรหรือไม่

นพ.มานิตย์ :งานสาธารณสุขมูลฐานนี้ จริง ๆ แล้ว เพิ่งจะเริ่มในประเทศเรา ในระดับนโยบายอาจจะพูดกันมา 2-3 ปีแล้ว แต่ในการปฏิบัติจริง ๆ ยังทำได้น้อยมาก ประมาณ 25% ชมรมเราก็มีความสนใจในเรื่องนี้ แต่ความเข้าใจจริง ๆ อาจจะยังไม่ชัดเจนนัก เพราะจะว่าจริง ๆ งานสาธารณสุขมูลฐานนี่ค่อนข้างจะอ่อนประชาสัมพันธ์นะ ผมว่าอ่อน...นี่เป็นจุดหนึ่ง แต่ชมรมเราก็เห็นความสำคัญนะฮะ อย่างจุลสารของเราที่ออกไป 3-4 ฉบับ หลังสุดนี่ ก็เป็นงานเกี่ยวกับสาธารณสุขมูลฐานทั้งนั้นเลย เราก็คงช่วยสนับสนุนได้ทางนี้คือ เผยแพร่หลักการ วิธีการ ของงานสาธารณสุขมูลฐาน ให้หมอโรงพยาบาลอำเภอได้ทราบ เพราะยังมีคนรู้น้อยมาก ส่วนเขาจะมีทัศนคติต่องานนี้ยังไง รับหรือเปล่านี่ก็ยังไม่ทราบ เราก็ช่วยในแง่ให้ข้อมูลหรือถ้ามีการประชุมอะไรนี่ เราก็ยินดีให้ความร่วมมือ

หมอชาวบ้าน : อย่างผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผ. ส. ส.) หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อ. ส. ม.) ที่ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งขึ้นตามหมู่บ้าน ทางชมรมฯ จะมีส่วนเสริมบทบาทหรือสนับสนุนเขาได้อย่างไรคะ

นพ.มานิตย์ : ผมคิดว่า โรงพยาบาลอำเภอ จะต้องมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างมากทีเดียวเพราะโรงพยาบาลอำเภอเป็นด่านแรกของรัฐ เป็นหน่วยงานแพทย์ของรัฐอันแรกที่สุดที่จะพบปะกับประชาชน เพียงแต่ว่า พวกหมอโรงพยาบาลอำเภอจะได้รับการสนับสนุนให้ได้ทำเรื่องนี้หรือเปล่าเท่านั้นเอง ก็อยู่ที่ว่านโยบายของรัฐ จะมุ่งเอางานทางชนบทเป็นหลัก หรือเปล่า หรือจะเอางานรักษาพยาบาลในเมืองใหญ่เป็นหลัก นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
นโยบายให้มี ผ.ส.ส. หรือ อ.ส.ม. นี่ ผมว่ามันเป็นนโยบายที่ดี เสียแต่ว่าระบบการควบคุมยังไม่ดี การคัดเลือกยังไม่ดีพอ แต่ผมเห็นด้วยทั้งหมดในหลักการ เพียงแต่ว่าการดำเนินงานของเรายังต้องปรับปรุงแก้ไขให้มันรัดกุม

หมอชาวบ้าน : ที่คุณหมอได้รับรางวัล “แพทย์ดีเด่นในโรงพยาบาลประจำอำเภอ” จากแพทยสมาคมประจำปีนี้ อยากให้คุณหมอ เล่าถึงรางวัลนี้ค่ะ

นพ.มานิตย์ : ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการให้รางวัลกัน สำหรับผม ผมคิดว่ารางวัลที่ได้นั้นเป็นผลงานของโรงพยาบาลอำเภอทั้งหมด ผมไม่คิดว่าตัวเองจะมีผลงานอะไรที่ดีเด่นกว่าคนอื่นเพียงแต่ว่าผมอาจจะเป็นตัวแทนของโรงพยาบาลให้มารับเป็นคนแรก จริง ๆ แล้วยังมีหมอที่ดี ๆ อีกเยอะ ที่ทำงานอุทิศตัวอย่างเต็มที่ อย่างหมอกวี ที่อำเภอประทาย โคราช เท่าที่เห็นมาเป็นคนที่ขยันที่สุด หมอสุจริต ที่อำเภอลำปลายมาศ บุรีรัมย์ หรือหมอมานพ นี่ก็อยู่อำเภอมานานใครจะให้ไปเป็นอะไร ให้ซี.7 ซี.8 ก็ไม่ไป จะอยู่มันนี่แหละ และใครต่อใครอีกที่ผมเอ่ยชื่อได้ไม่หมด

หมอชาวบ้าน : คุณหมอมีอะไรจะฝากถึงคนชนบทหรือคนที่เกี่ยวข้องในวงการบ้างไหมคะ

นพ.มานิตย์ : คือหมอที่ไปอยู่อำเภอนี่นะฮะ ผมว่าชาวบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หมออยู่ชนบทได้นานหรือเปล่า เพราะฉะนั้น กำลังใจจากชาวบ้าน หรือศรัทธาจากชาวบ้านนี่ก็จะเป็นกำลังใจที่ทำให้หมออยู่ได้นาน
ส่วนทางภาครัฐบาล หรือโรงเรียนแพทย์นั้น ผมคิดว่าหลักสูตรทุกวันนี้ มันไม่เหมาะกับหมอที่ไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอ หลักสูตรทุกวัน ไม่ได้ทำให้หมอมีความสามารถจะอยู่โรงพยาบาลอำเภอได้ ดังนั้นเมื่อไปอยู่แล้วก็ล้มเหลวทำงานไม่ได้ บางคนก็หนีกลับมา เพราะฉะนั้น อยากจะฝากให้โรงเรียนแพทย์พิจารณาหลักสูตรให้มันเหมาะสมสำหรับที่จะไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอ เพราะโรงพยาบาลอำเภอจะเป็นด่านแรกที่ประชาชนจะได้รับบริการทางการแพทย์ก็อยากจะให้เน้นอันนี้ด้วย

หมอชาวบ้าน : ที่ว่าไม่เหมาะสม หรือที่ว่า ไม่ได้ทำให้หมอมีความสามารถจะไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอได้ นี่หมายความว่าอย่างไรคะ

นพ.มานิตย์ : คือว่ามันใช้เทคนิคสูงเกินไป ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ของเมืองไทยเรา ผมว่ามันเหมาะสำหรับส่งไปเป็นหมอต่างประเทศ หรือเหมาะที่จะอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ เราไม่ได้ดูว่าฐานะของประเทศเราเป็นยังไง เครื่องมือเทคนิค เราควรจะใช่อะไรบ้าง เราจะต้องสอนให้ได้ถึงขนาดนั้น ให้มันเหมาะสมกับประเทศของเรา เพราะคำว่า “มาตรฐาน” นั้นอะไร คือ มาตรฐาน อาจารย์โรงเรียนแพทย์บางคน มักจะบอกว่าเดี๋ยวจะเสียมาตรฐาน อยากรู้เหมือนกันว่า มาตรฐานของประเทศไหน ถ้าประเทศไทย ผมว่าไม่เสียหรอก แต่ถ้าพูดว่ามาตรฐาน, ของอเมริกา มันก็อาจจะเสีย

หมอชาวบ้าน : ในส่วนอื่น คุณหมอมีอะไรจะฝากอีกไหมคะ

นพ.มานิตย์ : ฝากไปถึงรัฐบาลในเรื่องของความก้าวหน้าทางราชการแทนที่จะคิดว่าใครไปอยู่บ้านนอกก็เป็นหมอชั้นต่ำ ระดับตำแหน่งก็พลอยต่ำไปด้วย ใคร ๆ เลยไม่อยากไปอยู่นี่ก็ฝากถึงรัฐบาลว่า เราควรจะต้องมองปัญหาของประเทศให้เห็นว่ามันอยู่ที่ไหนกันแน่ ในการแก้ไขปัญหาก็ควรจะให้ความสำคัญแก่บุคลากรในส่วนที่มีปัญหาสูง ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับคนที่มีอำนาจต่อรองสูงอยู่แล้ว
ในส่วนของแพทยสภา ที่เป็นตัวสำคัญในการควบคุมหรือทำให้วงการแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปนี่นะ ก็อยากจะให้มองดูที่อำเภอด้วยว่าทุกวันนี้ การฝึกอบรมหรือว่าวิทยะ ฐานะของแพทย์ที่แพทยสภาได้ดำเนินการไปเหมาะสมหรือยัง ไม่ใช่คนไหนอยู่อำเภอก็ดักดานอยู่ยังงั้น และจะคิดว่าปล่อยให้มาสอบเอาวุฒิบัตรอะไรนี่นะ มันเป็นหนทางที่เป็นไปได้หรือเปล่า ก็ฝากถึงแพทยสภาไว้ด้วยนะฮะ
 

                                          ประวัตินายแพทย์มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์

เกิดที่ภาคอีสาน และเรียนหนังสือที่นั่นจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่3
เข้ามาเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ
จบการศึกษาปี 2516 จากคณะแพทยศาสตร์ . จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นแพทย์ฝึกหัดที่จังหวัดนครราชสีมา
ไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอศรีสว่าง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 ปี
ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย 1 ปี
ลาออกจากราชการประมาณ 5-6 เดือน
กลับเข้ารับราชการใหม่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ กระทั่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอประโคนชัย และได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท ติดต่อกันเป็นปีที่ 2


 

ข้อมูลสื่อ

14-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
มิถุนายน 2523
อื่น ๆ
นพ. มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์