• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหายเพราะเหตุใดบ้าง

โรคหายเพราะเหตุใดบ้าง


คนทั่ว ๆ ไปหรือแม้ในวงการแพทย์เข้าใจว่าโรคต่าง ๆ หายเพราะการรักษา ซึ่งก็เป็นความจริงอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะโรคส่วนใหญ่หายเอง เนื่องจากร่างกายมีกลไกที่จะป้องกันและรักษาโรคอยู่ในตัว

พูดถึงการรักษา ก็อาจพิจารณาแยกเป็น 2 ประเด็น คือ
1. ผู้รักษา
2. วิธีการรักษา

ผู้รักษา ทรรศนะเกี่ยวกับผู้รักษานี้แตกต่างกันไปตามกาลสมัย ตามความเชื่อ ตามการถูกทำให้เชื่อ ตามการศึกษา และตามวัฒนธรรม เป็นต้น
ในสังคมตะวันตก สมัยหนึ่งหรือสังคมที่เลียนแบบตะวันตก หรือที่คิดว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์ คิดว่า แพทย์ หรือแพทย์เท่านั้นที่เป็นผู้รักษา
แท้ที่จริงถ้าเราพิจารณาดูธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ (วิวัฒนาการ) แล้วจะเห็นว่าบุคคลมาก หลายที่ทำหน้าที่รักษา เช่น

1. ตัวเอง เมื่อเจ็บป่วยมนุษย์ หรือแม้สัตว์บางประเภทก็ขวนขวายรักษาตัวเอง

2. พ่อแม่รักษาลูก แม้กระทั่งปัจจุบัน เมื่อลูกไม่สบาย พ่อแม่ โดยเฉพาะแม่ก็ขวนขวายรักษาลูกทุก
ๆ ทาง ที่จะทำได้ แม่นั้นเป็นหมอของลูกทีเดียว อาจกล่าวได้ว่าที่เรารอดชีวิตมาทุกวันนี้ เพราะการรักษาจากแม่มากกว่าจากผู้อื่น

3. เพื่อนบ้านช่วยกันรักษา เช่น ช่วยจัดยาหม้อ ช่วยเขียนเสือ แนะนำวิธีรักษาต่าง ๆ เท่าที่ทราบ

4. ครู พระ มักจะหนีไม่พ้นที่จะตกอยู่ในฐานะผู้ให้การรักษา เพราะชาวบ้านเห็นว่า เป็นผู้มีความรู้
เป็นผู้ฉลาด หรือน่าเลื่อมใสศรัทธา เห็นว่าจะช่วยเขาได้ ก็พากันไปหา พระทุกนิกายจะตกเป็นผู้ให้การรักษาทั้งสิ้น ถ้าดูตามประวัติจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าก็ทรงบอกยาแก่ภิกษุ และชาวบ้าน เช่น ให้เอาสมอแช่น้ำมูตร (ปัสสาวะ) เน่า ไว้รักษาโรค พระเยซูก็รักษาโรค พระพวกมิชชั่นนารีทำการรักษาโรคไม่ใช่น้อย พระสงฆ์ไทยที่อยู่ตามชนบทก็ต้องช่วยแนะนำการรักษา และต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการรักษา (ดูเรื่อง “พระสงฆ์คิดอย่างไรเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว และการช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้าน” โดย นพ.เทพนม เมืองแมน ในหน้า 67)

5. ผู้รักษาตามแบบพื้นบ้าน เช่น หมอยาไทย หมอตำแย หมอนวด ฯลฯ

6. ผู้รักษาตามแผนปัจจุบัน เรามักจะมองไปที่แพทย์อย่างเดียว แท้ที่จริงมีบุคคลประเภทอื่นอีก
มากมาย เช่น พยาบาล เภสัชกร พนักงานอนามัย ผดุงครรภ์ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รักษาประเภทต่าง ๆ กับผู้รับการรักษาแตกต่างกันไปได้มาก
แม่รักษาลูกนั้นไม่ต้องพูดถึงละ ทำไปด้วยความรัก– ความเมตตาเต็มเปี่ยมเพื่อนบ้านช่วยกันรักษาก็
เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ส่งเสริมให้มนุษย์รักกัน เพราะเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเรียกว่า มนุษยธรรม
โลกจะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะมนุษย์ได้ช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งสมัยใหม่นี้มีน้อยลงทุกที
ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้นั้น ก็แปรผันได้มาก ตั้งแต่ตั้งใจช่วยเหลือจริง ๆ ไปจนกระทั่ง
เป็นความสัมพันธ์เชิงการค้า
ได้มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะให้เชื่อว่า แพทย์เท่านั้นที่เป็นผู้รักษา แต่ในความจริง ยังมีผู้อื่นอีก
มากที่นอกเหนือไปจากแพทย์ อย่างน้อยก็อีก 5 ประเภท กับบุคลากรอื่น ๆ ที่มิใช่แพทย์อีกมาก
 

วิธีการรักษา มีหลายวิธี เช่น
1. การรักษาจำเพาะ
เช่น เป็นมาลาเรียก็กินยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย กระเพาะทะลุก็ผ่าตัดลงไปเย็บ

2. การรักษาประคับประคอง เช่น พยายามให้ผู้ป่วยกินอาหารได้มาก นอนหลับได้มาก จะได้มีกำ
ลังสู้โรค

3. การรักษาตามอาการ เช่น เป็นไข้ หรือปวดศีรษะ จากอะไรก็ตาม ใช้ยาแก้ไข้ แก้ปวด เช่น แอส
ไพริน ปวดเจ็บเคล็ดยอก จากอะไรก็ไม่ทราบ ใช้ยาหม่องทาก็หายไป

4. การใช้ยาหลอด ภาษาทางแพทย์เขาเรียก พลาเซโบ (placebo) ทางแพทย์พยาบาลใช้มานาน เช่น คนไข้กำลังปวด แพทย์ฉีดน้ำกลั่นให้ก็หายปวดได้ เคยมีการศึกษาพบว่า คนไข้ที่กำลังปวด เมื่อได้รับยาที่ทำด้วยแป้ง แต่บอกว่าเป็นยาแก้ปวดประมาณร้อยละ 35 ของคนไข้ ที่ได้รับยาหลอกนี้จะทุเลาปวดอย่างมีนัยสำคัญ

5. การรักษาโดยเอาอกเอาใจคนไข้ และการรักษาไม่จำเพาะอย่างอื่น ๆ เช่น นวด เสกเป่า น้ำมนต์ เขียนเสือรักษาคางทูม นวด ฝังเข็ม ฯลฯ

การรักษาแผนปัจจุบันเน้นที่การรักษาจำเพาะ การรักษาแบบโบราณหรือแบบพื้นบ้าน เน้นที่การเอาอกเอาใจคนไข้ การรักษาตามอาการ และการรักษาไม่จำเพาะแบบต่าง ๆ
คนที่คลอดกับหมอตำแยได้รับการเอาอกเอาใจต่างๆ เช่น หมอตำแยไปให้บริการถึงบ้านตั้งแต่ก่อนกำหนดคลอด ช่วยบีบนวด ทำกับข้าว ซักผ้า ฯลฯ
จากการศึกษาของแพทย์อเมริกัน*พบว่า ประมาณร้อยละ 10 ของความเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้นที่หายเพราะการรักษาจำเพาะ
นอกนั้นดีขึ้นเพราะเหตุอื่น เช่น
ร้อยละ 20 ดีขึ้น เพราการได้รับความเอาใจใส่
ร้อยละ 20 ดีขึ้น เพราะผลของยาหลอด
อีกร้อยละ 50 ขึ้น เพราะเหตุปัจจัยอื่น ๆ รวมทั้งหายเองด้วย
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใจว่าทำไมการรักษาด้วยวิธีไม่จำเพาะต่าง ๆ จึงได้ผล

ในฉบับนี้จะเห็นว่ารองศาสตราจารย์นายแพทย์กรุงไกร เจนพาณิชย์ และรองศาตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐศักดิ์ ตู้จินดา พบว่าการนวดแบบไทย ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้นความดันโลหิตลด ผู้ได้รับการนวดรู้สึกหย่อนคลายจนบางคนหลับไป
การค้นคว้าของฝรั่งพบว่า ในร่างกายมนุษย์มีการสร้างสารที่คล้ายมอร์ฟีนเรียกว่า เอ็นโดฟีน มีฤทธิ์แก้ปวด หรืออีกนัยหนึ่ง ร่างกายมนุษย์สร้างยาแก้ปวดในตัวเองได้ ระดับเอ็นโดฟีนในแต่ละคน และในแต่ละระยะมีไม่เท่ากัน แต่ละคนจึงรู้สึกเจ็บปวดไม่เท่ากัน
เมื่อได้รับยาหลอด หรือได้รับความพึงพอใจร่างกายปล่อยเอ็นโดฟินออกมามากขึ้น ทำให้หายปวดหรือเกิดความสบาย

ฉะนั้นอย่าไปดูถูกวิธีการรักษา โดยการเอาอกเอาใจคนไข้ การนวด การรักษาที่ไม่จำเพาะอย่างอื่น แม้การรดน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก ก็อาจช่วยคนไข้ได้
บางครั้งที่เราคิดว่าการกระทำบางอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะเรายังรู้วิทยาศาสตร์ไม่พอ!
ชาวบ้าน ครู พระ ผดุงครรภ์ พยาบาล หรือท่านผู้ใดก็ตาม อย่าไปดูถูกตัวเองว่า ความรู้น้อย ช่วยอะไรคนไข้ไม่ได้

การพูดคุยกับคนไข้เพราะ ๆ สนใจรับฟังปัญหาของคนไข้ การนวด การรักษาตามอาการ การรักษาไม่จำเพาะบางอย่าง ก็อาจช่วยให้คนไข้ทุเลาได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นไม่หนัก หรือไม่ได้ต้องการการรักษาด้วยเทคนิคสูง ๆ เช่น ผ่าตัด

เราไม่ควรมีความคิดสุดโต่งว่า การรักษาแบบฝรั่งเท่านั้นที่ดี แบบไทยไม่ดีเลย หรือแบบไทยเท่านั้นที่ดีแบบฝรั่งไม่ดีเลย แต่ควรพินิจพิจารณาให้รอบคอบ หาทางให้ได้รับประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ผล ประหยัด ไม่เดือดร้อนมาก เพื่อประโยชน์สุขของคนหมู่มาก และอมนุษยธรรม

นี้แหละคือ ปณิธานของนิตยสาร “หมอชาวบ้าน”

 

ข้อมูลสื่อ

14-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
มิถุนายน 2523
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี