• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตั้งครรภ์ในสตรีมีอายุ หรือจากสามีสูงอายุ

การตั้งครรภ์ในสตรีมีอายุ หรือจากสามีสูงอายุ

สตรี เป็นเพศที่รักความสวย และกลัวความแก่เป็นที่สุด แต่ทุกๆคนก็ต้องแก่ลงสักวันในชีวิตของคนเรา โอกาสที่ทุกคนจะมีครอบครัวนั้นไม่เหมือนกัน  บางคนกว่าจะแต่งงานก็อายุมากแล้ว เมื่อสตรีมีอายุเกิน 35 ปี และเกิดตั้งครรภ์นั่นเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสนใจ

ปัจจุบันนี้ สตรีที่แต่งงานเมื่อตนเองอายุมากแล้วมีไม่ใช่น้อย ด้วยสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้ความรู้สึกนึกคิด การกล้าตัดสินใจ การยอมรับของสังคม สิทธิและหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย สตรีมีอิสระมากขึ้น ทำงานเก่งขึ้น และมีการศึกษาสูงขึ้น สิ่งต่างๆเหล่านี้บางครั้งทำให้โอกาสแต่งงานเนิ่นนานออกไป

  • ภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

 สตรีที่มีลูกเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่จะเกิดกับลูกได้ ที่สำคัญคือภาวะเด็กปัญญาอ่อน ที่เรียกว่าดาวน์ซินโดรม

          

ดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) คือ ภาวะที่ทารกมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่โครโมโซม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความผิดปกติของโครโมโซมตำแหน่งที่ 21 ที่พบบ่อยที่สุด

ลักษณะที่แสดงออก คือ ทารกปัญญาอ่อน หน้าตามีลักษณะเฉพาะมองดูคล้าย “แป๊ะยิ้ม” ใบหน้าแบน จมูก(สั้น)บี้ ตาตี่ หางตาชี้ มีหูเล็ก ลิ้นโต และโหงวเฮ้งไม่ดีอีกมากมาย ท่าทางเหม่อลอยเหมือนคนฝันกลางวัน อารมณ์ดีเหมือนมีความสุขอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำร้ายใคร

การตรวจโครโมโซมจากน้ำคร่ำจะทำให้ทราบถึงความผิดปกตินี้ได้ ระยะเวลาที่จะทำการเจาะน้ำคร่ำ อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ ถ้าพบว่ามีโครโมโซมผิดปกติ และมีผลร้ายต่อทารก ก็จะถามถึงความสมัครใจของพ่อแม่ในการทำแท้ง หากพ่อแม่ยินยอมแพทย์ก็จะดำเนินการให้โดยปลอดภัยต่อสุขภาพของแม่

  • วิธีการเจาะตรวจน้ำคร่ำ  

สตรีตั้งครรภ์และสามี จะได้รับคำอธิบายถึงสาเหตุ วิธีทำ ข้อดีและข้อเสียของกรรมวิธีนี้ หากเห็นด้วยและอนุญาตให้กระทำได้ก็ต้องเซ็นชื่อยินยอม ผู้ป่วยไม่ควรกินอาหารและน้ำ ก่อนการเจาะน้ำคร่ำอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

ข้อเสีย อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งมารดาและทารก ได้แก่ ภาวะติดเชื้อ ภาวะเลือดออก มดลูกหดรัดตัวจนเป็นเหตุให้แท้งบุตร น้ำคร่ำรั่วไหลออกมาเรื่อยๆ ในภายหลัง เลือดแม่และเลือดลูกผสมกัน แต่เข้ากันไม่ได้อันเป็นผลให้เม็ดเลือดแดงของลูกบางส่วนแตกสลาย และเข็มอาจไปทิ่มแทงถูกทารกได้
การตรวจโครโมโซมจากน้ำคร่ำ ร้อยละ 85 ทำในสตรีตั้งครรภ์ ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป

  • สาเหตุของความผิดปกติ

เราไม่รู้ว่า สาเหตุที่แท้จริงทำให้ทารกมีโครโมโซมผิดปกติ คืออะไร บางทีอาจเกิดจากคู่สามีภรรยา นั้นมีโครโมโซมบางอย่างผิดปกติแฝงอยู่ โดยไม่แสดงอาการก็เป็นได้
สมมติฐานหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ มารดาที่อายุมากขึ้น จะมีความสามารถในการคัดเลือกเอาทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติออกไปได้น้อยลง (ดูตารางประกอบ) หมายความว่า โดยปกติจะพบทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติในครรภ์ประมาณร้อยละ 7 แต่ร่างกายมารดา เลือกที่จะก่อให้เกิดกระบวนการแท้งขับเอาทารกที่ผิดปกติออกมาเป็นส่วนใหญ่ เหลือเพียงร้อยละ o.5 (ทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติ) เท่านั้น ที่คลอดออกมามีชีวิต

นอกเหนือจากมารดามีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมากขึ้นแล้ว สามีที่สูงอายุ ก็อาจสัมพันธ์กับการเกิดทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรม ได้เช่นกัน

กลุ่มสทีน (Stene) และกลุ่มมัตสุเนกา (Matsunaga) อ้างว่า โอกาสเสี่ยงของทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรมพบมากขึ้นตามอายุของสามีที่มากกว่า 55 ปีขึ้นไป ยิ่งในกรณีที่ภรรยามีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 3o-34 ปี มีโอกาสจะพบมากขึ้น จึงควรพิจารณาทำการเจาะน้ำคร่ำเพื่อเพาะเลี้ยงโครโมโซม ในกรณีดังกล่าวข้างต้น

  • ข้อบ่งชี้อื่นๆ ที่ควรเจาะน้ำคร่ำเพื่อเพาะเลี้ยงโครโมโซมตรวจหาความผิดปกติ คือ

1. บุตรคนก่อนตายคลอด หรือแท้งบุตรเอง โดยพบว่า ร้อยละ 5o-6o ของทารกที่แท้งเองในช่วงสามเดือนแรก และร้อยละ 5 ของทารกตายคลอด เป็นพวกที่มีโครโมโซมผิดปกติ

ทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติทั้งหมด ที่แท้งเองในสามเดือนแรก ร้อยละ 5o เป็นทารกที่มีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 คือดาวน์ซินโดรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นภาวะนี้จึงเป็นร้อยละ 25 ของทารกที่ผิดปกติทั้งหมด
2. สตรีตั้งครรภ์ที่ทำงานสัมผัสต่อรังสีเอกซเรย์ หรือสารเคมีบำบัดมะเร็งเป็นเวลานานๆ
3. สตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคแทรกซ้อนบางอย่างร่วมอยู่ด้วย เช่น เบาหวาน โรคติดเชื้อตับอักเสบ เป็นต้น
4. คู่สามีภรรยามีโครโมโซมผิดปกติบางชนิดแฝงอยู่โดยไม่แสดงอาการ
5. พวกที่มีการปฏิสนธิช้าผิดปกติในหลอดแก้วทดลอง (delayed fertilization)
6. ทารกในครรภ์มีภาวะเติบโตช้าขณะอยู่ในครรภ์

  • ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์

หากคู่สามีภรรยาที่ฝ่ายสตรีตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป หรือสามีมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ในขณะที่ภรรยาตั้งครรภ์ สิ่งที่ควรทำคือการเจาะน้ำคร่ำเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงโครโมโซม ขณะอายุครรภ์อยู่ในช่วง 16-18 สัปดาห์

ถ้าพบว่ามีโครโมโซมผิดปกติ อันแสดงถึงทารกไม่สมประกอบร้ายแรง ก็ควรทำแท้งให้ทารกที่ผิดปกติคลอดออกมา

ถ้าไม่พบความผิดปกติใดๆ เกิดกับโครโมโซม ก็ควรจะเริ่มกระตุ้นให้สมองของทารกน้อยทำงาน เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 5-6 เดือน โดยการให้ฟังเสียงดนตรีที่มีความประสานกลมกลืนเป็นระเบียบเรียบง่าย ไพเราะเสนาะหูอย่างสม่ำเสมอจนถึงคลอด

เมื่อคลอดออกมาแล้ว ก็อย่ารอช้า ควรรีบจัดให้ทารกน้อยได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน โดยทำให้คล้ายๆกับเป็น “การเล่น” มากกว่า เวลาผ่านไปเด็กจะรักการเรียน  และขวนขวายไขว่คว้าหาหนังสือมาอ่านเอง ความสุขของพ่อแม่ทุกคนก็อยู่ตรงที่มี “ลูก” ฉลาด แข็งแรง สดชื่น แจ่มใส ไม่สร้างปัญหา แต่สามารถแก้ปัญหาได้เองอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นคนดี มีความกล้า และกตัญญู

 

                                             *****************************************


 

ข้อมูลสื่อ

208-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 208
สิงหาคม 2539
เรื่องน่ารู้
พ.ต.ท.นพ.เสรี ธีรพงษ์