• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ช่วยบรรเทาการไอ ละลายและขับเสมหะ

ช่วยบรรเทาการไอ ละลายและขับเสมหะ

ยาอมภูมิปัญญาไทย ช่วยป้องกันและรักษาอาการในระบบทางเดินหายใจได้อย่างครอบคลุมพยาธิสภาพคือ บรรเทาอาการไอ ละลายและขับเสมหะ ฝาดสมานลำคอ ทำให้เสมหะไม่เกาะติดอยู่นานจึงไม่ติดเชื้อง่าย นอกจากนี้ยังช่วยให้หายใจโล่ง มีสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อนๆ จึงระงับการอักเสบและป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้ สรรพคุณที่หลากหลายนี้เกิดขึ้นได้ เพราะวิธีคิดที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งและใช้สมุนไพรธรรมชาติที่เหมาะสมกลมกลืน ซึ่งแตกต่างจากยาอมแผนปัจจุบันที่ใช้ตัวยาเดี่ยวๆ จึงออกฤทธิ์ได้เฉพาะอย่างและใช้สารปรุงแต่งเคมี

ยาอมสมุนไพรไทยนี้ เภสัชกรไทยสามารถผลิตตามหลัก GMP ให้ปลอดจากเชื้อโรคและสารปนเปื้อน เก็บได้นานถึง 2 ปี โดยไม่ต้องใช้สารกันบูด แพทย์ยอมรับในสรรพคุณ นำมาใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลมากขึ้น และเป็นที่นิยมในกลุ่มประชาชนที่อาศัยในเขตเมือง ซึ่งต้องผจญกับฝุ่นละอองและมลพิษรอบตัวทุกๆ วัน

ยาอมไทยๆ ที่ขอแนะนำนั้นคือ ยาอมมะแว้ง ยาจากสมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นยา
สามัญประจำบ้านและยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ


ส่วนประกอบสำคัญ "ยาอมมะแว้ง" คือ

ผลมะแว้ง  ร้อยละ 18.89   โดยน้ำหนัก

ใบกะเพราแดง  ร้อยละ 5.90

ใบตาลหม่อน ร้อยละ 5.90

ใบสวาด ร้อยละ 4.71

ขมิ้นอ้อย ร้อยละ 4.425

สารส้ม ร้อยละ 2.19

ผลมะแว้งที่นิยมใช้มี 2 ชนิด คือ มะแว้งเครือ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Solanum trilobatum Linn. มีเอนไซม์ออกซิเดส ส่วนมะแว้งต้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Solanum indicum Linn. เป็นสมุนไพรที่มีวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และมีสารสำคัญคืออัลคาลอยด์ ชนิดโซลาโซดีน
(solasodine) และโซลานีน (solanine) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและระบบการหายใจ จึงช่วยบรรเทาอาการไอได้

นอกจากนี้ ยังมีสารลิกนิน lignin) และซาโปนิน (saponin) ทำหน้าที่เหมือนยาปฏิชีวนะช่วยระงับการอักเสบและละลายเสมหะได้ดี แต่เนื่องจากอาจมีพิษในตัวเอง จึงใช้สารส้มกำจัดพิษที่ไม่ต้องการ สมุน-ไพรอื่นๆ ช่วยทำให้หายใจโล่ง บรรเทาอาการหวัดและอาการคลื่นไส้อาเจียน


คนไทยใช้ "มะแว้ง" มาแต่ดั้งเดิมเป็นภูมิปัญญาที่ควรสานต่อ โดยนำผลมะแว้งสด 5-6 ผล ล้างให้สะอาด นำมาเคี้ยวอมไว้ กลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมแล้วคายกากทิ้ง หรือจะกลืน ทั้งน้ำและเนื้อก็ได้ หรือจะใช้ผลแก่สด 5-10 ผล นำมาโขลกพอแหลก คั้นเอาแต่ น้ำ เติมเกลือเล็กน้อย ใช้จิบบ่อยๆ เวลาไอ สำหรับเด็กจะใช้น้ำที่คั้นจากผลมะแว้ง เป็นน้ำกระสายยา กวาดคอแก้ไอและขับเสมหะ นอกจากนี้ ในตำรับยาไทยจะมีการบันทึกไว้ชื่อ ยาประสะมะแว้ง ประกอบด้วยมะแว้งผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นปั้นเป็นลูกกลอน

 

องค์การเภสัชกรรม สานต่อภูมิปัญญาไทย ผลิต "ยาอมมะแว้ง" เป็นยาสามัญประจำบ้านและบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยนำตำรับยาประสะมะแว้งมาพัฒนาแล้วผลิตตามกระบวนการมาตรฐาน GMP ตั้งแต่การคัดเลือกและตรวจสอบวัตถุดิบ จนได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป มีการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสีแกมมาตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วตรวจสอบไม่ให้มีเชื้อที่ทำให้เกิดโรคปนเปื้อน คือ pathogenic bacteria ๔ ชนิด (E. coli, S. aureus, P. aeruginosa, salmonella) รวมทั้งยีสต์และเชื้อราด้วย จึงจะนำออกวางจำหน่ายได้

 

คุณประโยชน์ของ "ยาอมมะแว้ง" ท่ามกลางการเติบโตของสังคมเมือง ศ.นพ.วีรสิงห์ เมืองมั่น อดีตหัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์และผู้ปฏิบัติการคลินิกสมุนไพร โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ข้อแนะนำว่า

"คนที่อยู่ในเขตเมืองต้องเผชิญกับมลพิษต่างๆ มากมาย ได้แก่ ควันไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละอองจากสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย ตลอดจนตะกอน กำมะถัน สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม ภัยร้ายจาก มลพิษ ทำให้คนเมืองเจ็บป่วยได้ง่าย และพบว่าคนเมืองเมื่อล้มป่วยมักจะมีอาการที่รุนแรงกว่าคนในชนบท อาการและโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ การไอและภูมิแพ้ จึงเป็นปัญหาสำคัญ คนเมืองจึงควรพยายามหลีกเลี่ยงมลพิษให้มากที่สุด ซึ่งอาจจะทำได้ยาก ดังนั้น อีกหนทางหนึ่ง ที่ทำได้คือ เมื่อเกิดอาการไอและภูมิแพ้ต้องรีบทำการรักษาในเบื้องต้นเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นรุนแรงหรือเรื้อรัง"

"ยาอมมะแว้งเป็นยาอมสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการไอและป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อที่รุนแรงในระบบทางเดินทางหายใจได้ เพราะ
1. มีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อนๆ จึงระงับการอักเสบได้
2. ทำให้เสมหะอ่อนตัว ละลาย ถูกขับ หรือฝาดสมานออกไปได้เร็ว ไม่อยู่ในลำคอนาน เชื้อโรคจึงไม่เกิดขึ้นหรือฝังตัวได้ง่าย
3. บรรเทาอาการไอ จึงไม่ทำให้เกิดการอักเสบ
4. ทำให้หายใจโล่ง บรรเทาอาการหวัดหรือภูมิแพ้ได้
5. หากถึงขั้นเจ็บคอ สามารถใช้ร่วมกับฟ้าทะลายโจรได้"
 
ยาอมมะแว้ง จึงมีคุณค่าที่จะเป็นยาสามัญประจำบ้านของคุณจริงๆ ภูมิปัญญาไทย เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง
สมุนไพรไทย น่าใช้! และไม่ธรรมดา!

ข้อมูลสื่อ

303-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 303
กรกฎาคม 2547
ภก.สุดเหมือนฝัน ธนธัญญา