• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารเสริมหรือเสริมอาหาร จะเอาอะไรกันแน่

อาหารเสริมหรือเสริมอาหาร จะเอาอะไรกันแน่

 
“สวัสดีครับ (ค่ะ) ผม (ดิฉัน) เป็นสมาชิกหมอชาวบ้านมานานมีเรื่องอยากขอปรึกษาหน่อยครับ (ค่ะ) คือเพื่อนแนะนำให้กินอาหารเสริม เขาบอกว่าเขาก็กินอยู่ กินแล้วรู้สึกดีจัง มาแนะนำต่อ แต่ผม (ดิฉัน) ยังไม่แน่ใจ และอาหารเสริมเหล่านี้มีราคาแพงมาก ไม่ทราบว่าจะกินดีมั้ย?”

หมอชาวบ้านมักจะได้รับคำถามในทำนองนี้ทางโทรศัพท์และจดหมายอยู่เสมอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ที่เข้าใจกันว่าเป็นอาหารเสริม หมอชาวบ้านจึงได้นำเรื่องนี้มาเสนอให้ทราบ แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็ยังคงเป็นของผู้บริโภค ก่อนตัดสินใจอยากขอให้อ่านบทความนี้ก่อนสักนิดนะคะ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจถึงคำว่า “อาหารเสริม” และ “เสริมอาหาร” ก่อนว่ามีความหมายอย่างไร ในกรณีใดจึงจะใช้คำว่า “อาหารเสริม” และในกรณีใดจึงใช้คำว่า “เสริมอาหาร”

อาหารเสริมหรือคอมพลีเมนต์ทารีฟู้ด (complementary food) คือ อาหารเสริมตามธรรมชาติ ซึ่งจะให้ในเด็กทารกอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง ๑ ปี ให้ควบคู่กับนมแม่ หรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพื่อให้ทารกมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดสารอาหาร

อาหารเสริมหรือซับพลีเมนต์ทารีฟู้ด (supple mentary food) คำนี้ใช้ขยายสำหรับวัยอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะหมายถึง อาหารที่ใช้เสริมอาหารหลักในภาวะขาดสารอาหาร

คำว่า อาหารเสริมหรือซับพลีเมนต์ทารีฟู้ดคำนี้เองที่ก่อให้เกิดความสับสน จนคนส่วนใหญ่คิดว่า หมายถึงผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ออกมาในท้องตลาด เช่น นมผึ้ง ซุปไก่สกัด น้ำมันปลา วิตามินสังเคราะห์ ฯลฯ เพื่อแก้ไขความสับสนและความเข้าใจผิด คณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมา สำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือฟู้ดซับพลีเมนต์ (food supplement) ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่กินเพื่อเสริมอาหารหลักที่กินตามปกติ

 
สุขภาพดี สุขภาพเสีย
ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจในประเทศ ถือว่าเป็นช่วงขาขึ้น ค่าเงินบาทแข็งตัว กลุ่มคนในเมืองจะเป็นกลุ่มที่มีฐานะดีขึ้น รายได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการปรับเปลี่ยนวิถีในการดำเนินชีวิต มีการออกกำลังกายน้อยลงเพราะสามารถซื้อหรือผ่อนรถได้ จะไปไหนก็ใช้รถ มีการเดินแค่ช่วงสั้นๆ การทำงานบ้านก็พึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกหรือจ้างคนมาทำงานบ้าน ทำให้มีการใช้พลังงานน้อย อาหารที่กินเข้าไปก็เกิดสะสมเป็นไขมัน

ส่วนเรื่องอาหารการกิน เมื่อฐานะดีขึ้นจะกินข้าวน้อยลง จะกินเนื้อสัตว์ ไขมัน และน้ำตาลมากขึ้น พวกพืชผักผลไม้อาจจะกินเท่าเดิมหรือลดน้อยลงในบางราย ผลที่สุดภาพรวมทั้งหมดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเสีย เช่น อ้วน ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันเลือดสูง เมื่อถึงจุดที่รู้สึกว่าสุขภาพไม่ค่อยดี ก็จะมองว่าจะแก้ปัญหาด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้หรือไม่ ในที่สุดก็ไปซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นเหยื่อของการโฆษณาและการขายทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อต้องการให้สุขภาพดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า จะซื้อสุขภาพด้วยเงินได้หรือไม่?

 
แนวความคิดหรือความเชื่อเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
การที่คนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างแพร่หลายนั้น เกิดมาจากแนวความคิดหรือความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งพอจะประมวลแนวความคิดหรือความเชื่อได้ ดังนี้

๑. เพื่อเสริมอาหาร

กลุ่มนี้มีแนวคิดว่าอาหารที่กินอยู่นั้นมีคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจึงใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ

๒. เพื่อเสริมสุขภาพ

คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีแนวความคิดใหม่ๆ มีความคิดว่าการป้องกันดีกว่าการแก้ไข ดังนั้นจึงคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะมีสุขภาพดี พยายามจะดูแลสุขภาพตนเองให้ดีที่สุด เมื่อมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกมาก็คิดว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะช่วยเสริมสุขภาพได้

๓. กลัวโรคภัยไข้เจ็บ

เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มักจะกลัวโรคร้ายแรง เช่นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูง ฯลฯ และกลัวการรักษาทางการแพทย์ เช่น เป็นโรคมะเร็งต้องผ่าตัด ต้องฉายแสง ดังนั้นเมื่อมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดโฆษณาว่าสามารถป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ฯลฯ ได้ คนกลุ่มนี้ก็จะหาซื้อผลิตภัณฑ์นั้นมาบริโภค

๔. เชื่อตามผลการวิจัยโดยไม่ได้ศึกษาติดตาม

ในต่างประเทศจะมีการวิจัยต่างๆออกมามาก พอมีผลงานวิจัยออกมาชิ้นหนึ่งก็จะมีคนผลิตสิ้นค้าออกมาขาย เช่น กระดูกอ่อนปลาฉลาม เขาพบว่า กระดูกอ่อนปลาฉลามไม่มีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยง และก้อนมะเร็งที่โตได้เพราะมีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยง เขาก็มีความคิดว่าถ้าเอากระดูกอ่อนปลาฉลามมาให้คนไข้กินสารในนั้นซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอะไรจะไปป้องกันไม่ให้เส้นเลือดฝอยเกิดขึ้นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วมะเร็งก็ไม่โต นี้คือ สมมติฐานขั้นต้นของเขา และเขากำลังจะวิจัยต่อไปอีกว่าสารตัวนั้นคืออะไร ในปัจจุบันก็ทราบแล้วแต่ยังวิจัยไปไม่ถึงขั้นไหน ผู้ผลิตก็พร้อมใจกันไปล่าปลาฉลามมาใส่แคปซูลขาย โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผลงานวิจัยนั้นผิดหรือถูก คนที่มีสตางค์หน่อยก็แห่ไปซื้อมากิน ทั้งที่ราคาก็สูงมาก

๕. หลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก่อนจะผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายได้ จะต้องขออนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียน
ต่อคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย อย.จะจัดผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และห้ามมีการโฆษณาสรรพคุณ ในแง่การรักษาโรคได้ ที่ผ่านมามักมีการลักลอบโฆษณาหรืออวดอ้างสรรพคุณว่า สามารถรักษาโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคมะเร็ง อัมพาต หอบหืด ผู้บริโภคที่หลงเชื่อคำอวดอ้างดังกล่าวก็จะซื้อหาผลิตภัณฑ์นั้นมาบริโภค

๖. เห่อตามฝรั่ง

คนไทยมักมีค่านิยมตามฝรั่ง อะไรที่เป็นของฝรั่งต้องดี เมื่อฝรั่งแนะนำว่าดีคนไทยก็ว่าดีตาม และไปซื้อหามาบริโภคตามอย่างฝรั่ง

๗. ของที่หาได้ยากและแพงต้องดี

เช่น รังนก กว่านกแต่ละตัวจะสร้างรังได้ต้องใช้น้ำลายเท่าไร เมื่อคนไปเก็บมา นกก็ต้องสร้างรังใหม่ เพราะนกนางแอ่นจะไม่วางไข่บนรังนกชนิดอื่น บางตัวสร้างจนน้ำลายมีเลือดปน เมื่อได้มาลำบากราคาจึงต้องแพง คนบางกลุ่มจะคิดว่า ของหายาก ของแพงต้องดี หากได้กินคงดีต่อสุขภาพ จริงๆ แล้วความเชื่อต่าง ๆเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังมีอีกมากมาย แต่ขอนำเสนอแค่พอสังเขป ความเชื่อเหล่านี้ทำให้คนเกิดความมั่นใจผิดๆ จนไม่สนใจอาหารประจำวัน ไม่ปฏิบัติตนเพื่อสุขภาพที่ดี การจะมีสุขภาพที่ดีนั้นมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น พันธุกรรม การออกกำลังกาย อาหาร ดังนั้นสารอาหารเพียงตัวใดตัวหนึ่งจึงไม่สามารถทำให้สุขภาพดีได้

 


ข้อปฏิบัติด้วนโภชนาการสู่สุขภาพ
ดังได้กล่าวแล้วว่า การจะมีสุขภาพที่ดีนั้นต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน คือ พันธุกรรม โภชนาการ การออกกำลังกาย การผ่อนคลายกายและจิต การหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษต่างๆ การมีโภชนาการดีก็เป็นหนึ่งในหลายข้อที่ทำให้มีสุขภาพดี ข้อปฏิบัติที่มีการแนะนำในเรื่องการบริโภคอาหาร มีดังนี้

๑. กินอาหารครบ ๕ หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายและหมั่นดูแลน้ำหนักตัว ข้อปฏิบัตินี้เป็นคำแนะนำหลัก เพื่อให้ทุกๆคนบริโภคอาหารที่หลากหลาย คือ บริโภคอาหารชนิดต่างๆให้ได้วันละ ๑๕-๒๕ ชนิด และให้มีการหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน ผลรวบยอดของการบริโภคอาหารที่หลากหลายคือ น้ำหนักตัวเป็นปกติ ไม่อ้วนไม่ผอม และภาวะโภชนาการในด้านอื่นๆ ก็เป็นปกติด้วย โดยไม่มีปัญหาการขาดวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ

๒. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยซึ่งควรได้รับการส่งเสริมต่อไป ถ้าเป็นไปได้ควรบริโภคข้าวซ้อมมือ เพราะได้วิตามิน แร่ธาตุ ตลอดจนใยอาหารควบคู่ไปกับการได้แป้ง อันจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ สำหรับอาหารที่ทำจากแป้ง เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน หรือ ขนมปัง ก็อาจจะกินเป็นบางมื้อ อาหารธัญพืชเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะให้แป้ง ซึ่งจะถูกย่อยไปใช้เป็นพลังงานวันต่อวัน แต่ถ้าได้พลังงานเกินกว่าที่ร่างกายต้องการก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันได้

๓. กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ พืชผักและผลไม้ทั้งสีเขียวและเหลือง นอกจากจะให้ทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ แล้วยังให้ใยอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของลำไส้ในการขับถ่ายของเสียหรือสิ่งที่เหลือจากการย่อยและยังช่วยดูดซับสารพิษ และช่วยขับถ่ายโคเลสเตอรอลอีกด้วย นอกจากนี้ยังให้สิ่งที่ไม่ใช่สารอาหาร เช่น แอนตี้ออกซิแดนท์ และสารอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ทางสมุนไพรอันจะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลและป้องกันอนุมูลอิสระไม่ให้ทำลายเนื้อเยื่อและผนังเซลล์ซึ่งนำไปสู่การป้องกันไม่ให้ไขมันเกาะผนังหลอดเลือดและป้องกันการเกิดมะเร็งอีกด้วย

๔. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ อาหารที่แนะนำในข้อนี้จะให้โปรตีน ซึ่งมีจุดเน้น คือ ปลา และอาหารประเภทถั่วต่างๆ เช่น เต้าหู้ขาว และเต้าหู้เหลือง สำหรับเนื้อสัตว์นั้น กินพอประมาณและเลือกเฉพาะมีมันน้อยๆ ไข่เป็นอาหารที่ดี ควรบริโภคเป็นประจำ เช่น วันเว้นวัน หรือสัปดาห์ละ ๒ ฟอง

๕. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย นมเป็นแหล่งของโปรตีน แคลเซียม วิตามินบี ๒ และแร่ธาตุต่างๆ

๖. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร ไขมันจากพืชและสัตว์จะให้พลังงานวันต่อวัน และพลังงานสะสม ถ้าได้เกินว่าที่ร่างกายต้องการจะเกิดปัญหาไขมันในเลือดสูงและปัญหาโรคอ้วน ยิ่งถ้ากินอาหารที่ไม่สมดุล คือ ขาดพวกพืชผักผลไม้ และขาดการออกกำลังกายจะทำให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดแดงได้ง่ายขึ้น จนเกิดการแข็งตัว ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดความดันเลือดสูง และโรคหัวใจขาดเลือด

อาหารไทยดั้งเดิมมีไขมันไม่มาก เช่น น้ำพริกผักจิ้ม แกงไม่ใส่กะทิ ถือว่าเป็นอาหารที่เสริมสุขภาพ อาหารไทยปัจจุบันมีการทอด และผัดมากตลอดจนมีการใช้กะทิในแกงต่างๆ ไขมันจึงมีมาก จึงควรเลือกกินเป็นครั้งคราวในปริมาณที่ไม่มากนัก เมื่อกินพร้อมข้าวจะทำให้ไขมันที่บริโภคอยู่ในปริมาณพอดี

๗. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัดและเค็มจัด อาหารหวานจัดที่มีน้ำตาลทรายเป็นองค์ประกอบ เช่น น้ำเชื่อม น้ำอัดลม ขนมหวาน ถ้ากินมากๆ เป็นประจำมักจะเป็นพลังงานส่วนเกิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและร่างกายจะพยายามเปลี่ยนไปเป็นไขมัน จึงมีส่วนทำให้ไขมันสูงในเลือดได้ และยังไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ ในทางปฏิบัติจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด

อาหารที่มีรสเค็มจัดจะให้เกลือโซเดียมคลอไรด์ซึ่งช่วยให้ดึงน้ำเข้าสู่หลอดเลือด ถ้ากินอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำจะทำให้เกิดความดันเลือดสูงได้ อาหารไทยจะให้โซเดียมประมาณวันละ ๖-๑๐ กรัมซึ่งมากเกินพออยู่แล้ว ควรจะพยายามฝึกกินอาหารที่มีรสธรรมดา และไม่ควรเติมเกลือหรือน้ำปลาในอาหารที่ปรุงมาแล้ว

๘. กินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน สารเคมี อาหารที่สะอาดจะปราศจากเชื้อโรค ทั้งไวรัส แบคทีเรีย และพยาธิ หรือสารตกค้างต่างๆ ในทางปฏิบัติ จึงควรเลือกกินที่สะอาด โดยการเลือกซื้อและการล้างที่ถูกต้อง อาหารที่สด และปรุงใหม่ๆ หรืออาหารที่ร้อนๆ ซึ่งเชื้อโรคจะถูกทำลายจนหมดไป

๙. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เป็นสารที่อาจจะทำให้เสพติดได้ คนที่ติดเหล้าจนเรื้อรังมักจะมีการขาดวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ และมักจะเป็นโรคตับแข็งควบคู่กันไป ด้วยเหตุนี้ถ้าลดหรือเลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ


จะบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดีหรือไม่
อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะยังตัดสินใจไม่ได้ว่าแล้วควรจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดีหรือไม่จะพิจารณาอย่างไร จึงขอเสนอหลัก ๒ ข้อ ในการพิจารณาว่าควรจะบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดีมั้ยหรือมีความคุ้มค่า ในการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแค่ไหน

๑. วิเคราะห์ปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ แล้วเปรียบเทียบกับความต้องการของร่างกายและเปรียบเทียบดูด้วยว่าอาหารที่เรากินอยู่มีปริมาณสารอาหารพอเพียงต่อความต้องการของร่างกายหรือไม่ เช่น โปรตีนแคปซูล ๑ แคปซูลจะมีโปรตีน ๑ กรัม สมมติว่าขายแคปซูลละ ๕ บาท ในวัยผู้ใหญ่เฉลี่ยต้องการโปรตีนวันละ ๕๐ กรัม ถ้าเผื่อเราต้องการกินโปรตีนแคปซูลให้เพียงพอต้องกินถึง ๕๐ เม็ด เป็นจำนวนเงิน ๒๕๐ บาท

ทีนี้ลองมาดูทางเลือกอื่น ไข่ ๑ ฟอง มีโปรตีน ๗ กรัม ราคา ๒ บาทกว่า ปลาทูทอด ๒ ตัว มีโปรตีนประมาณ ๒๐ กรัม ราคาประมาณ ๒๐-๓๐ บาท หรือนม ๑ กล่อง มีโปรตีน ๘ กรัม ราคา ๘ บาท
ฉะนั้นในการบริโภคให้พิจารณาดูคุณค่าประโยชน์และราคา แล้วพิจารณาทางเลือกอื่นด้วย ว่ามีทาง เลือกอื่นที่ดีกว่าไหม

๒. วิเคราะห์ดูว่ามีสารอะไรบ้างที่ออกฤทธิ์ และสารออกฤทธิ์นั้นมีปริมาณมากพอที่จะออกฤทธิ์หรือไม่ เช่น วิตามินซี มีการโฆษณาสรรพคุณว่าเป็นสารแอนติออกซิเด้นท์หรือต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งป้องกันการเกิดมะเร็ง ทีนี้มาเปรียบเทียบปริมาณของวิตามินซีที่ร่างกายต้องการใน ๑ วัน กับปริมาณของวิตามินซีในผลิตภัณฑ์นั้น และต้องกินเป็นปริมาณเท่าไรจึงจะออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ โดยทั่วๆ ไปสารอาหารจากผลิตภัณฑ์จะมีน้อยมากจนแทบไม่มีความหมายเลย จากนั้นลองดูทางเลือกอื่นที่ว่าวิตามินซีมีในพืชผักผลไม้และอาหารประเภทใดบ้าง ลองเปรียบเทียบประโยชน์ และทางเลือกว่าทางไหนจะดีกว่า เหมาะสมกว่าแล้วจึงค่อยตัดสินใจเลือก



ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในท้องตลาดมีมากมายหลายชนิด จึงขอรวบรวมเท่าที่จะรวบรวมได้มานำเสนอให้ท่านได้ทราบ ในแต่ละชนิดก็จะมีการโฆษณาสรรพคุณต่างๆ นานา

• นมผึ้ง Royal Jelly
นมผึ้งมีลักษณะคล้ายนมข้นสีครีม ซึ่งผลิตจากต่อมหนึ่งบนหัวของผึ้งงานหรือผึ้งพี่เลี้ยง นมผึ้งนี้จะผลิตขึ้นเพื่อป้อนตัวอ่อนหรือนางพญาผึ้ง

• น้ำมันตับปลา
น้ำมันตับปลาเป็นน้ำมันที่สกัดได้จากปลาคอด (Cod) นิยมใช้เป็นอาหารเสริมในเด็กกำลังโต เพราะเชื่อว่าช่วยบำรุงร่างกาย และช่วยให้เด็กเจริญอาหาร

• กระเทียมสังเคราะห์
กระเทียมเป็นพืชที่คนแถบเอเชียนิยมใช้แต่งกลิ้นและรสของอาหาร ในต่างประเทศ พบว่า มีสรรพคุณเป็นยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ

• กากใย Fiber
กากใย คือ เส้นใยของอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ไม่มีคุณค่าทางอาหารอื่นแต่ร่างกายควรจะได้รับเพื่อให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ และลดโอกาสที่สารพิษจะสัมผัสกับผนังได้ อาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ เม็ดแมงลัก ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด ข้าวซ้อมมือ บวบเหลี่ยม ฟักทอง ผักใบเขียว และผลไม้ทุกชนิด

• รำข้าว
รำข้าว คือ จมูกข้าวที่ได้จากการขัดสีข้าวกล้องให้เป็นข้าวขาว ในรำข้าวนี้จะมีคุณค่าทางอาหารมาก ดังนั้นคนที่กินข้าวกล้องก็จะได้รับรำข้าวด้วย

• สาหร่ายเกลียวทอง
คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว ที่มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็น ในสาหร่ายเกลียวทอง พบว่า มีโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ นอกจากนี้ยังย่อยง่ายอีกด้วย

• สาหร่ายทะเล
คือ พืชทะเลชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเส้นผม สีดำออกน้ำตาล มีเกลือแร่หลายชนิด เป็นแหล่งไอโอดีนที่ดี นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น แกงจืด ยำ หรือกินกับน้ำพริก

• เลซิติน
เลซิตินเป็นสารชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองซึ่งจะพบมากในสมอง ตับ ไต กระดูกอ่อน ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวสาลี ฯลฯ

• น้ำมันอิเวนนิ่งพริมโรส (Evening Primrose oil)
น้ำมันอิเวนนิ่งพริมโรสสกัดได้จากเมล็ดดอกพริมโรสซึ่งจะบานในตอนเย็น ในน้ำมันอิเวนนิ่งพริมโรสมีกรดไขมันแกมมาไลโนเลอิก (gamma-linolenic acid) มักเรียกสั้นๆว่า จีแอลเอ (GLA) จีแอลเอเป็นกรดไขมันที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง

• วิตามินอี
วิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน วิตามินอีจะเก็บอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย คือ ตับ เนื้อเยื่อ ไขมัน หัวใจ กล้ามเนื้อ มดลูก อัณฑะ เลือด ต่อมอะดรีนัน ต่อมพิทูอิทารี และผิวหนัง วิตามินอีพบได้ในอาหารธรรมชาติ เช่น น้ำมันจมูกข้าวสาลี น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันตับปลา น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันฝ้าย น้ำมันมะกอก น้ำมันหมู เนยเทียม น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กะหล่ำปลี แครอต ผักกาด หอมใหญ่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวโพด ข้าวสาลี ผักใบเขียว ไข่ และเนื้อ

• เบต้าแคโรทีน
แคโรทีนหรือแคโรทินอยส์ (carotinoids) เป็นโปรวิตามินเอ เป็นสารที่เมื่อถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายแล้วจะให้วิตามินเอ มีสีเหลือง ส้ม แดง และเขียว อาหารที่มีแคโรทีนมาก ได้แก่ หัวแค่รอตมีแคโรทีนมากเป็นอันดับหนึ่ง ผักใบเขียว (ผักโขม บรอกโคลี กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดเขียว ฯลฯ) ผักสีเหลือง (ข้าวโพด ฝักทอง ผักกินหัวต่างๆ) ผลไม้สีเหลือง (แตงไทย ลูกพลับ มะละกอสุก มะม่วงสุก ฯลฯ) น้ำมันตับปลา

• แคลเซียม
แคลเซียมเป็นเกลือแร่หลักที่พบในร่างกายมากที่สุดประมาณร้อยละ ๙๙ ของเกลือแร่จะพบในกระดูก ฟัน เล็บ และผม ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๑ จะมีอยู่ทั่วไปในระบบประสาทกล้ามเนื้อ แหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม ได้แก่ นม เนย ไข่ หอยนางรม หอยแมลงภู่ ปลาตากแห้ง ปลาซาดีน ปลาเล็กทีกินได้ทั้งตัว (เช่น ปลากะตัก ปลาไส้ตัน ปลารากกล้วย) กะปิ ผักขม ผักคะน้า ผักกระเฉด ผักขึ้นฉ่าย ผักกาดหอม กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ใบยอ ใบขี้เหล็ก ยอดแค หัวผักกาด หัวหอม ฝักทอง มะเขือเทศ มะรุม มะนาว มะม่วงหิมพานต์ แตงโม ลูกพรุน ถั่วต่างๆ (ถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฝักทอง งา และรำข้าว)

• เห็ดหลินจือ
เห็ดหลินจือชอบขึ้นกับต้นไม้ที่หมดอายุแล้ว บางครั้งจะพบขึ้นอยู่ตามผิวดิน ด้านหลังของดอกจะมัน คล้ายเคลือบด้วยเล็กเกอร์ ในประเทศจีนเชื่อว่าเห็ดหลินจือคือยาอายุวัฒนะ มีหลายประเทศให้ความสนใจและศึกษาถึงสรรพคุณของเห็ดหลินจือรวมทั้งประเทศไทยด้วย และในหลายประเทศได้ใช้เห็ดหลินจือเพื่อบำรุงสุขภาพ รักษาโรคต่างๆ และเสริมความงามโดยทำเป็นเครื่องสำอาง

• ซุบไก่สกัด
ซุบไก่สกัดซึ่งมีการโฆษณาสรรพคุณว่า บำรุงร่างกาย เสริมสร้างร่างกาย ผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ และปัจจุบันยังมีการเติมโน่นเติมนี่ เช่น ผสมถังเช่า เพื่อให้ผู้บริโภคคิดว่ามีคุณค่าเพิ่มขึ้น

• วิตามินซี
ทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่า วิตามินซีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ปัจจุบันมีการโฆษณาสรรพคุณว่า เป็นสารแอนติออกซิเด้นท์หรือต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง รวมทั้งมีส่วนลดโคเลสเตอรอล ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ อาหารที่มีวิตามินซีมาก ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม มะเขือเทศ มันฝรั่ง แตงโม สับปะรด มะละกอ มะนาว สตรอเบอรี่ แตงไทย ส้มโอ ลิ้นจี่ ผักใบเขียว กะหล่ำ ผักบุ้ง ผักโขม มะเขือยาว ผักคะน้า บรอกโคลี่ ฯลฯ

 
จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในท้องตลาดมีมากจริงๆ ความจริงยังมีนอกเหนือจากที่นำเสนอนี้ แต่ขาดข้อมูลจึงมิได้นำมาเสนอ อยากย้ำอีกครั้งว่า ผัก ผลไม้ของไทย เราล้วนอุดมไปด้วยสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่ หากกินในปริมาณที่มากพอก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งผลิตภัณฑ์ใดๆอีก

ปัจจุบันการโฆษณามีผลต่อการตัดสินใจบริโภคมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีการโฆษณา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้บริโภคคงต้องพิจารณาเลือกสักนิด อย่าตกเป็นทาสของการโฆษณา และในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การบริโภคแต่เพียงพอดี พอเหมาะ เป็นอีกหนทางที่จะช่วยกู้ภาวะเศรษฐกิจได้นะคะ

 

ข้อมูลจาก
๑. ศ.น.พ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผ.อ.สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
๒. ผ.อ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ
๓. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
๔. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
๕. การบรรยายเรื่อง “รับประทานอาหารเสริมคุณหรือโทษ” ณ โรงพยาบาลศิริราช วิทยากรคือ ม.ล.ศิริเฉลิม สวัสดิวัฒน์, ภ.ก.สรจักร ศิริบริรักษ์
๖. เปรมจิตต์ สิทธิศิริ, สุทิน เกตุแก้ว : กินอยู่เพื่อสุขภาพ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราช-วิทยาลัย กรุงเทพฯ:๒๕๓๘

ข้อมูลสื่อ

224-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 224
ธันวาคม 2540
บทความพิเศษ