• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารไทยกับสุขภาพในช่วงฤดูฝน

อาหารไทยกับสุขภาพในช่วงฤดูฝน


"
การพึ่งตนเองตามแนวพุทธศาสนาเป็นสิ่งจำเป็น การแพทย์แผนไทยเดินตามแนวพุทธศาสนา ดังนั้นจึงเน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก”

ตั้งแต่เล็กจนโต คนส่วนใหญ่เมื่อจะกินอาหาร คงนึกถึงแต่อาหาร ๕ หมู่ ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีอาหารเสริมเข้ามาขายในท้องตลาดมากมาย จนคนส่วนหนึ่งให้ความสนใจอาหารเสริมมากกว่าอาหาร ๕ หมู่ที่กินกันเป็นประจำทุกวันเสียอีก บางคนกลัวเป็นโรคนั้นโรคนี้ พอป่วยนิดป่วยหน่อยก็กังวลกันจนเสียสุขภาพจิต เพราะขาดการหาความรู้ในการพึ่งตนเอง ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจกำลังโหมกระหน่ำ ยิ่งต้องระวังสุขภาพมากขึ้น เพราะหากเจ็บป่วยก็หมายถึงการต้องเสียค่ารักษาพยาบาลและรายได้ การพึ่งตนเองตามแนวพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็น การแพทย์แผนไทยเดินตามแนวพุทธศาสนาดังนั้นจึงเน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก ในช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนหรือวัสสานะฤดู ซึ่งจะนับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงขั้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ นับเวลาได้ ๔ เดือน การแพทย์ไทยใช้กาลเวลาค้นหาเหตุที่มาของอาการป่วยไข้เรียกว่า “กาลสมุฏฐาน”

อาการป่วยไข้ที่เกิดขึ้นภายในรอบ ๔ เดือนนี้มีหลายๆ ประการ เช่น ไข้หวัด ท้องร่วง ปวดท้อง จุกเสียด หนาวสั่น อาเจียน ลมหน้ามืด วิงเวียน เป็นต้น ข้อควรระวัง คือ

๑. พยายามป้องกันความหนาวเย็น ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ จะใช้วิธีใดก็ได้เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นเพียงพอไม่ว่า ในเวลากลางวันหรือกลางคืน

๒. การบริโภคอาหาร สมควรใช้อาหารประเภทที่มีรสร้อน อาหารที่ปรุงจากเครื่องปรุงที่มีรสร้อน เช่น ขิง กะเพรา ข่า พริกไทย กระเทียม โหระพา กระชาย ดีปลี พริกชี้ฟ้า ตะไคร้ กระวาน

เครื่องปรุงที่เป็นพืชวัตถุ ดังที่กล่าวมาแล้ว จะใช้ปรุงเครื่องแกง หรือเป็นผักจิ้ม ผักหนอก หรือใช้ชงน้ำร้อนดื่ม แต่ละตัวก็สามารถให้ประโยชน์ได้อย่างดีเยี่ยม
 
ขอแนะนำตัวอย่างที่ท่านสามารถปฏิบัติได้

น้ำตะไคร้ชง หาต้นตะไคร้แกง ต้นอวบๆโตๆ หั่นฝอยๆ แล้วคั่วไฟให้เหลืองกรอบ เก็บใส่ถุงไว้ในภาชนะที่อากาศไม่ถ่ายเท เวลาจะใช้ ต้มน้ำให้เดือดและนำตะไคร้ที่คั่วกรอบไว้แล้ว ใส่ลงในแก้วหรือในกาน้ำก็ได้ ดูปริมาณน้ำกับตะไคร้ให้พอดี ปิดฝาไว้ นำมาดื่มเวลาต้องการจะดื่มน้ำทุกๆ ครั้ง อีกวิธี คือ ใช้เหง้าขิงแก่ๆหรือเหง้าข่าแก่ๆ ใช้ชงแบบชงชา น้ำร้อนครึ่งแก้วเหง้าขิงประมาณ ๒-๓ แว่น ปิดฝาครอบไว้แล้วดื่ม น้ำขิงชงก็จะช่วยเสริมธาตุในฤดูฝนได้อย่างดี ถ้าป่วยไข้อาการเป็นหวัด คัดแน่นจมูก สุมศีรษะด้วยน้ำต้ม หอมแดง ใบมะขามไทย ใบส้มป่อย หอมที่กินเป็นอาหาร ให้สุมเวลาเช้ามืดทุกๆวันติดต่อกัน ประมาณ ๔-๕ วัน อาการแน่นจมูกก็จะหายไป


วิธีสุมศีรษะ นำน้ำมาต้มให้เดือดประมาณ ๑ กาเล็กๆ (ต้มด้วยกาน้ำ) ไม่ต้องใช้หม้อ แต่ถ้าหากาต้มน้ำไม่ได้หรือไม่มี ใช้หม้อสแตนเลสก็ได้ ใส่น้ำประมาณครึ่งลิตร นำหัวหอมแดง หัวหอม อย่างละ ๓-๔ หัว ใบมะขามไทย ใบส้มป่อย อย่างละกำมือ พอน้ำเดือดดีแล้ว นำเอาตัวยาทั้งหมด ใส่ลงในหม้อปิดฝาสัก ๒-๓ นาที แล้วเปิดฝารมให้ไอน้ำถูกทั่วๆใบหน้า แล้วใช้ผ้าที่สะอาดชุบน้ำยาให้ชุ่มคลุมสุมบนศีรษะให้ทั่วๆบริเวณศีรษะ กะพออุ่นๆ พอดี ปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันประมาณ ๔-๕ วันอาการแน่นจมูกจะหายไป ทำให้เลือดลม กระจายรวดเร็ว เพิ่มความร้อนเข้าสู่ร่างกายได้อย่างดีเยี่ยม

ถ้ามีอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นอก (แน่นในทรวงอก) หรือท้องร่วงเกิดขึ้นในฤดูฝนนี้ ขอแนะนำอาหารประเภท “คลุกข้าว” ที่ปกติมักจะสั่งอาหารที่เรียกว่า “ข้าวคลุกกะปิ” นั่นเอง แต่สูตรที่นำมาเสนอนี้ ไม่ใช่ข้าวคลุกกะปิ แต่เป็นข้าวคลุกพริก สำหรับกินในช่วงหน้าฝนหรือในฤดูฝนนี้ เพื่อช่วยเสริมธาตุไฟให้มั่นคง สร้างความอบอุ่นภายในร่างกาย บรรเทากองลมที่ให้โทษเกี่ยวกับปวดท้อง จุกเสียด อาเจียนท้องร่วง เป็นต้น ถ้ากินข้าวคลุกพริกให้ได้อย่างน้อย เดือนละ ๒ ครั้ง ตลอดรอบ ๔ เดือนในฤดูฝนนี้ อาการป่วยไข้ด้วยกองลมให้โทษจะไม่บังเกิดขึ้น ทำให้ร่างกายสมบูรณ์และสบายมากยิ่งขึ้น

สูตรผสมพริกคลุกข้าว คือ พริกไทย ถ้าได้พริกไทยสดเมล็ดแก่พอดีจะดีมาก แต่ถ้าหาพริกไทยสดแก่ๆไม่ได้ จะใช้พริกไทยสุกเมล็ดสีดำๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาดก็ได้ เมล็ดพริกไทยประมาณ ๕๐ กรัม (พริกไทยเมล็ดสดหรือแห้งก็ใช้ส่วนเท่ากัน)


วิธีทำ พริกไทย หนัก ๕๐ กรัม ทำให้ละเอียดที่สุด ต่อไปกุ้งแห้งประมาณ ๑๐๐ กรัม ล้างกุ้งแห้งให้สะอาดแล้วใส่รวมลงไปกับพริกไทย ตำรวมกันจนละเอียด ใส่หัวกระเทียมประมาณ ๓ กลีบ ปอกเปลือกแข็งออกเอาแต่เนื้อหัวกระเทียม ตำรวมกัน พริกชี้ฟ้า ๒-๓ เม็ด ใส่ตำรวมกันและใส่เกลือป่นพอประมาณ พร้อมด้วยกะปิปิ้งไฟสุกกรอบเหลืองพอประมาณ ทั้งหมดตำรวมกันจนเข้ากันดี นำมากินคือคลุกกับข้าวสุกที่เย็นสนิทแล้ว (ห้ามใช้ข้าวสุกที่กำลังร้อน) ถ้าจะใช้ผักหนอกแนะนำให้ใช้ใบกระพังโหม ใบขมิ้นอ่อนๆ เป็นผักหนอกในมื้ออาหารนั้น

ถ้าท่านสามารถปฏิบัติได้โดยจัดทำอาหารข้าวคลุกพริก ตามที่แนะนำมานี้ให้ติดต่อกันประมาณเดือนละ ๒ ครั้ง จนตลอดฤดูฝน คือ วัสสานะฤดูนี้ ขอบ่งชี้ว่าท่านจะมีร่างกายสมบูรณ์ อบอุ่น และปราศจากกองลมให้โทษ ท้องร่วง ปวดท้อง จุกเสียด จะหายไปหรืออย่างน้อยจะไม่บังเกิดแก่ท่านตลอดวัสสานะฤดูแน่นอน

ฤดู จัดเป็นสมุฏฐานหนึ่ง ในการวินิจฉัยโรคทั่วๆไปของการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทย พยายามค้นหาข้อเท็จจริงของธรรมชาติที่ปรากฏในเผ่าพันธุ์ ภูมิประเทศ สายเลือด อาหาร รวมถึงอาการป่วยไข้ และยารักษาโรค เพื่อให้สมดุลกับธรรมชาติจริงๆ ที่สามารถเป็นไปได้

ข้อมูลสื่อ

221-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 221
กันยายน 2540
แพทย์แผนไทย
กีชา วิมลเมธี