• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๒)

บทที่ ๒
บ่อเกิดของความสุข

..........................................
จิตแพทย์คัตเลอร์เล่าว่า เมื่อ ๒ ปีก่อน เพื่อนของเขาคนหนึ่งมีโชคลาภตกมาถึงตัวอย่างไม่ได้คาดฝัน เพื่อนคนนี้เป็นพยาบาล ก่อนหน้านั้น ๑๘ เดือน ได้เลิกอาชีพพยาบาล แล้วไปทำงานบริษัทกับเพื่อนสองคน บริษัทประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา ๑๘ เดือนมีบริษัทใหญ่มาซื้อกิจการของบริษัทด้วยเงินจำนวนสูง เธอร่ำรวยขึ้นมาทันที เลยเลิกทำงาน ทั้งที่อายุเพียง ๓๒ ปี

คัตเลอร์ถามเธอว่ามีความสุขดีหรือ เธอตอบว่าก็ดีที่มีโอกาสเดินทาง แต่เธอว่า "มันแปลก เมื่อคลายความตื่นเต้นจากการมีเงิน มีบ้านมีช่อง สิ่งต่างๆ ก็กลับไปเหมือนเดิม ฉันไม่คิดว่าฉันมีความสุขมากกว่าเดิม
ในเวลาเดียวกันคัตเลอร์มีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่พบว่าตัวเองมีเชื้อ HIV
"ทีแรกผมแย่เลย" เพื่อนคนนี้ว่า
"ใช้เวลาเกือบปีกว่าจะทำใจได้ว่าผมติดเชื้อไวรัสนี้" เขาว่า "แต่ว่าหลังจาก นั้นสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป ผมรู้สึกมีความสุขมากกว่าแต่ก่อน แต่ละเวลา แต่ละเรื่องมีความหมายสำหรับผม แม้ผมจะไม่ต้องการติดเชื้อ HIV แต่มันก็เปลี่ยน-แปลงชีวิตผม...ในทางบวก"Ž
"เปลี่ยนอย่างไร?"
คัตเลอร์ถาม
"ก็อย่างเช่น ผมเคยเป็นคนวัตถุนิยมจัด แต่ในปีที่ผ่านมาการที่ต้องเผชิญกับความตาย มันเปิดโลกใหม่ให้ผม ผมสนใจเรื่องจิตวิญญาณ (spirituality) เป็นครั้งแรกในชีวิต หาหนังสือมาอ่าน คุยกับผู้คนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ค้นพบสิ่งที่ ไม่เคยแม้แต่คิดถึงมาก่อน ตื่นเช้าขึ้นมาก็รู้สึกตื่นเต้นว่า วันนี้จะได้พบอะไรใหม่ๆ"Ž
ตัวอย่างของ ๒ คนข้างบนนี้แสดงว่า ความสุขเกิดจากสภาวะของจิตใจ มากกว่าปัจจัยนอกตัว ความสำเร็จทำให้เกิดความรู้สึกดีอยู่ชั่วคราว แล้วมันก็กลับไปที่เดิม ในทางกลับกันก็เช่นเดียวกัน

มีการวิจัยผู้ถูกลอตเตอรี่ในรัฐอิลลินอยส์ และลอตเตอรี่ของอังกฤษพบว่า ความรู้สึกที่ดีอยู่ไม่นานก็หายไป การวิจัยผู้โชคร้าย เช่น เป็นมะเร็ง ตาบอด เป็นอัมพาต พบว่าจะมีความรู้สึกแย่อยู่พักหนึ่ง แล้วก็กลับไปมีความรู้สึกอยู่ที่ระดับเดิมหลังจากปรับตัวอยู่ชั่วระยะหนึ่ง

แต่ละคนมีความสุขที่เป็น "baseline" หรือความสุขระดับพื้นฐานของแต่ละคน คำถามคือว่า "ความสุขระดับพื้นฐาน" นี้ มันเกิดจากอะไร และมีทางที่จะเปลี่ยนแปลงให้มีมากขึ้นได้ไหม

"เป็นกรรมพันธุ์"
นักวิจัยบางคนว่าความสุขระดับพื้นฐานเป็นกรรมพันธุ์อย่าง ลูกแฝดไข่ใบเดียวกัน มักจะมีความสุขระดับพื้นฐานใกล้เคียงกัน แม้จะได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมต่างกัน

เราจะเห็นได้ว่าบางคนก็รื่นเริงเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ผมมีน้าของภรรยาเป็นเช่นนั้นอยู่คนหนึ่ง ลูกของเขาก็เหมือนกัน ถ้าเราเลี้ยงเด็กเล็กๆ หลายๆ คน จะเห็นว่าเด็กๆ ต่างกันมาตั้งแต่เกิด บางคนก็ใจเย็น บางคนก็หงุดหงิด โกรธง่าย เพราะฉะนั้น สารเคมีในสมอง ซึ่งกำหนดโดยกรรมพันธุ์ ต้องมีส่วนในการกำหนดความสุขระดับพื้นฐานของแต่ละคน คนที่มีกรรมพันธุ์เป็นโรคซึมเศร้า (depression) มีความทุกข์เต็มตัวเลย และถึงขั้นทนไม่ไหวทำให้ฆ่าตัวตาย
แม้ว่ากรรมพันธุ์จะมีส่วนกำหนดความสุขระดับพื้นฐานในแต่ละคน แต่ก็ยังมีปัจจัยทางจิตใจอีก ที่เราจะทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นได้

จิตที่ชอบเปรียบเทียบ
ความสุขความพอใจของเราขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบ ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับอดีตแล้ว พบว่าดีขึ้นเราก็พอใจ เช่น แต่ก่อนเงินรูปี $ ๒๐,๐๐๐ ตอนนี้ $ ๓๐,๐๐๐ ความสุขไม่ได้อยู่ที่ $ ๓๐,๐๐๐ แต่มันอยู่ที่เปรียบเทียบกับ $ ๒๐,๐๐๐ เพราะนานไป $ ๓๐,๐๐๐ เหมือนเดิมก็ไม่ได้เป็นความสุข แต่มันต้องการ $ ๔๐,๐๐๐ แล้วเรายังเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่น อีก ไม่ว่าเราจะได้มากเท่าไร แต่ถ้าคนอื่นได้มากกว่าแม้เพียงเล็กน้อย เราก็ไม่มีความสุขอีก นักกีฬาอาชีพบางคนบ่นอย่างขมขื่นที่ได้เงินเดือนเดือนละ $ ๑ ล้าน $ ๒ ล้าน หรือ $ ๓ ล้าน อ้างว่าเพื่อนบางคนได้มากกว่า

จะเห็นได้ว่าความสุขของเราขึ้นกับการเปรียบเทียบ ว่าเปรียบเทียบกับใคร ถ้าเปรียบกับคนที่ฉลาดกว่า รวยกว่า มีความสำเร็จมากกว่า ก็มักจะทำให้อิจฉา ทุรนทุราย และไม่มีความสุข แต่เราก็สามารถใช้การเปรียบเทียบให้เป็นประโยชน์ ได้ โดยเปรียบเทียบกับคนที่โชคไม่ดีเท่าเรา และคำนึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี
นักวิจัยได้ค้นพบว่าความพอใจในชีวิตของผู้คนอาจเพิ่มขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยน มุมมองและวิธีคิด ว่าสิ่งต่างๆ มันอาจเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ในการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ ผู้หญิงที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในเมืองมิลวอคี ได้เห็นภาพความยากแค้นในอดีตเมื่อ ต้นศตวรรษ หรือให้สร้างจินตภาพว่าตัวเองผ่านโศกนาฏกรรม เช่น ไฟไหม้ รูปร่าง พิการ หลังการทดลองเหล่านี้ปรากฏว่าผู้ถูกทดลองพอใจในชีวิตของตนเองมากขึ้น

หรือในอีกการทดลองหนึ่งที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กที่เมืองบัฟฟาโล ผู้ถูกทดลองถูกขอให้เติมคำในช่องว่าง
"ฉันดีใจที่ฉันไม่ได้เป็นอย่าง..."

หลังจากให้เติมหลายๆ ครั้ง ปรากฏว่าผู้ถูกทดลองมีความพอใจในชีวิตของตนเองมากขึ้นที่ไม่ได้เป็นอย่าง...
ในทางตรงข้ามเมื่อให้เติมคำในช่องว่างอีกแบบหนึ่ง ดังนี้
"ฉันอยากเป็นอย่าง..."Ž
ปรากฏว่าหลังจากนั้นผู้ถูกทดลองพอใจในชีวิตของตนเองน้อยลง
การทดลองเหล่านี้ที่แสดงให้เห็นว่าความพอใจในชีวิตขึ้นหรือลงได้ (ทั้งๆ ที่เราก็เหมือนเดิม) ขึ้นกับการเปลี่ยนมุมมองของเรา แสดงให้เห็นความสำคัญสุดยอดของสภาวะจิต หรือโลกทัศน์ชีวทัศน์ของเรา

ท่านทะไล ลามะ อธิบายว่า "แม้จะเป็นไปได้ที่จะสร้างความสุข ความสุขก็ไม่ใช่มีชั้นเดียว ความสุขมีหลายระดับด้วยกัน ในทางพระพุทธศาสนามีปัจจัย ๔ ประการที่ทำให้เกิดความอิ่มใจ หรือความสุข ได้แก่ เศรษฐฐานะ ความสมใจในทางวัตถุ จิตวิญญาณ และการบรรลุธรรม ทั้งหมดรวมกันนั่นแหละเป็นความสุขของบุคคล"Ž
ถ้าเราทิ้งเรื่องความสุขทางธรรมเสียชั่วขณะ และพูดถึงความสุขอย่างทางโลกอย่างที่เราเข้าใจในชีวิตประจำวัน มีองค์ประกอบหลักที่เราคิดว่ามันนำมาซึ่งความยินดีและความสุข เช่น

การมีสุขภาพดี
อย่างหนึ่งละที่เป็นปัจจัยสำคัญของความสุข
วัตถุปัจจัย ที่ให้ความสะดวกสบาย อีกอย่างหนึ่งละ
การมีเพื่อน ที่สนิทและไว้วางใจกันได้ อีกอย่างหนึ่งละ ที่เป็นบ่อเกิดของความสุข
ทั้งหมดนี้แน่นอนละว่าเป็นบ่อเกิดของความสุข แต่ที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของความสุขได้จริงยังขึ้นกับ
สภาวะทางจิต ซึ่งสำคัญเหลือเกิน
ถ้า "เราใช้สิ่งที่เรามีไปในทางบวก" เช่น ช่วยเหลือผู้อื่น เราจะมีความสุข ยิ่งขึ้น จริงอยู่วัตถุปัจจัยเครื่องอำนวยความสะดวก และความสำเร็จทำให้เรามีความสุขได้ แต่ถ้าเราไม่สนใจสภาวะทางจิตที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้มีผลต่อความสุขระยะยาวน้อยมาก เช่น ถ้าเรามีความเกลียด หรือความโกรธฝังลึกในจิตใจของเรา มันจะทำลายสุขภาพนี่เสียไปหนึ่งอย่างละ

และถ้าจิตใจไม่มีความสุขเสียแล้ว วัตถุปัจจัยก็ไม่ช่วยได้มาก ในทางตรงข้าม ถ้าจิตใจสงบ เราอาจเป็นคนมีความสุขอย่างยิ่งก็ได้ ทั้งๆ ที่สุขภาพไม่ดี
หรือแม้มีข้าวของเยอะแยะ แต่ในขณะที่เกลียดและโกรธอย่างรุนแรง ก็อยาก จะขว้างข้าวของนั้นทิ้งไป ในลักษณะเช่นนั้น ข้าวของก็ไม่เป็นปัจจัยแห่งความสุข
ทุกวันนี้มีสังคมที่พัฒนามากทางวัตถุ แต่มีคนไม่มีความสุขจำนวนมาก เพราะภายใต้ผิวหน้าของความรุ่งเรืองสวยงาม มีความไม่สงบทางจิต ที่นำไปสู่ความกระวนกระวายงุ่นง่าน การทะเลาะกันโดยไม่จำเป็น การใช้เหล้า ใช้ยาเสพติด หรือถึงกับฆ่าตัวตาย ไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่า ความมั่งคั่งอย่างเดียวจะนำความสุข ความพอใจมาให้

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรจะต้องสนใจเรื่องสภาวะทางจิตกันอย่างจริงจัง
ในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเราสามารถรักษาความสงบทางจิตใจได้มากเท่าไร เราก็จะสามารถมีความสุขได้มากเท่านั้น
ท่านทะไล ลามะ ได้พูดต่อไปว่า เวลาพูดถึงความสงบทางจิตใจ ไม่ควรจะเข้าใจผิดว่าเป็นจิตที่เงียบไม่รู้สึกรู้สาอะไร ความสงบทางจิตใจมีรากฐานอยู่ในความเมตตาและกรุณา จิตที่สงบยังคงรับรู้และรู้สึกรู้สาอยู่อย่างเต็มที่

ถ้าขาดความสงบทางจิตใจเสียแล้ว ต่อให้มีวัตถุปัจจัยภายนอกบริบูรณ์อย่างไรก็หาความสุขไม่ได้ ตรงข้ามถ้ามี "คุณสมบัติภายใน" มีความสงบ ความมั่นคงทางจิตใจ แม้ปัจจัยภายนอกไม่ถึงพร้อม ก็ยังมีความสุขได้

ความพึงพอใจภายในจิตใจ
หมอคัตเลอร์เดินข้ามที่จอดรถของ โรงแรมในบ่ายวันหนึ่ง เพื่อไปพบท่าน ทะไล ลามะ เขาหยุดชมรถโตโยต้า แลนด์ครุยเซอร์คันใหม่เอี่ยม ที่เขาอยากได้มานาน เมื่อเขาพบท่านทะไล ลามะ เขายังคิดเรื่องรถยนต์คันนั้นอยู่ เขาถามท่านว่า
"มันดูเหมือนวัฒนธรรมทั้งหมดของ เรา คือวัฒนธรรมตะวันตก มีฐานอยู่ที่การ แสวงหาทางวัตถุ เราถูกสิ่งแวดล้อมปลุก ระดมด้วยโฆษณาให้ซื้อของโมเดลใหม่ๆ ยากที่จะพ้นจากอิทธิพลของโฆษณาเหล่านี้ มีของหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องการ อยากได้ ไม่เคยหยุดหย่อนเลย ขอความกรุณาท่านกล่าวถึงความอยากสักหน่อย"Ž
"มีความอยากอยู่ ๒ อย่าง" ท่านทะไล ลามะ ตอบ
"ความอยากบางอย่างก็เป็นของดี เช่น อยากมีความสุข อยากมีสันติภาพ อยากให้มนุษย์อยู่กันกลมกลืนมากขึ้น"Ž
"แต่ความอยากบางอย่างก็ขาดเหตุผล แล้วนำไปสู่ความลำบาก"Ž

เช่น เวลาเราไปตลาด เห็นของสวยงามต่างๆ แล้วอยากได้ แต่ถ้าได้สติแล้วถามตัวเองว่า "มันจำเป็นสำหรับเราหรือเปล่า" จะพบว่าเปล่า นี่เป็นตัวอย่างว่าถ้าเราตามใจความอยากเมื่อแรกเกิดขึ้น ก็จะเข้าไปสู่ความลำบาก แต่เมื่อมีสติ และดึงปัญญาเข้ามาพิจารณาก็พบว่ามันไม่จำเป็น

หมอคัตเลอร์ถามว่า "ยังไม่เข้าใจว่าคนที่ต้องการซื้อรถแพงๆ ถ้าเขามีเงินจะซื้อ จะถือว่าทำให้ตัวเองลำบากอย่างไร มันอาจจะทำให้เพื่อนบ้านอิจฉา แต่สำหรับตัวเองแล้ว เกิดความพึงพอใจ และความสุข"Ž

ท่านทะไล ลามะ สั่นศีรษะ และตอบอย่างหนักแน่น "ไม่ใช่...ความพึงพอใจโดยตัวของมันเอง ไม่ได้บอกว่าความอยากหรือการกระทำนั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษ"Ž
"เช่น ฆาตกรมีความพึงพอใจที่ทำงานสำเร็จลง แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันถูกต้อง อกุศลกรรมต่างๆ เช่น การพูดปด การลักขโมย กาเมสุมิจฉาจารต่างๆ เหล่านี้ คนทำมักมีความพึงพอใจขณะที่กระทำ"Ž
"ฉะนั้น ความแตกต่างระหว่างความอยากที่เป็นกุศลกับความอยากที่เป็นอกุศล ไม่ได้อยู่ที่การได้รับความพึงพอใจหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับผลของมัน เช่น ถ้าอยากได้อะไร แล้วก็อยากเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ มันก็จะถึงจุดที่เป็นไปไม่ได้ แล้วก็จะผิดหวัง จมลงสู่ความซึมเศร้า นี่เป็นอันตรายของความอยากชนิดนี้"Ž
"ความอยากที่เกินเลยนำไปสู่โลภ-จริต โลภจริตคือความอยากที่มากเกินไป มาจากการคาดหวังที่มากเกิน ถ้าพินิจพิจารณาความโลภให้ดีๆ จะพบว่ามันพา เราไปสู่ความงุ่นง่าน ความผิดหวัง ความสับสน และปัญหาอื่นๆ อีกมาก
ความโลภมันไม่มีขอบเขต และพาเราไปสู่ความลำบาก ข้าศึกของความโลภคือความพึงพอใจภายในจิตใจ

แล้วเราจะสัมฤทธิ์ความพึงพอใจภายในจิตใจได้อย่างไร
มี ๒ วิธี
หนึ่ง ก็หาสิ่งต่างๆ ที่ต้องการมา เช่น เงิน บ้าน รถยนต์ แฟน เป็นต้น
แต่วิธีที่หนึ่งนี้ ท่านทะไล ลามะ บอกแล้วว่ามันจะนำเราไปสู่ความลำบาก
สอง วิธีนี้ได้ผลแน่นอนกว่า วิธีนี้ไม่ใช่พยายามมีในสิ่งที่ต้องการ แต่ต้องการและเห็นคุณค่าในสิ่งที่มี
หมอคัตเลอร์เล่าว่าคืนหนึ่งเขาดูโทรทัศน์เรื่องคริสโตเฟอร์ รีฟ พระเอกหนังที่ตกม้าในปี ค.ศ.๑๙๙๔ แล้วคอหัก ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไป ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้สัมภาษณ์ถามว่าเขาทำอย่างไรกับความซึมเศร้าหดหู่ที่เกิดขึ้นกับความพิการ รีฟตอบว่า เขารู้สึกท้อแท้โดยสิ้นเชิงเมื่ออยู่ในไอซียู แต่ความรู้สึกท้อแท้ก็ผ่านพ้นไปได้ แต่ตอนนี้เขาคิดว่าเขาเป็นคนโชคดี เขาพูดถึงเขามีภรรยาและลูกที่รักเขา พูดถึงความก้าวหน้าของการแพทย์ รีฟได้พูดถึงว่าใหม่ๆ ก็มีความเจ็บปวดและอิจฉาคนที่วิ่งขึ้นลงบันไดได้ แต่เขาก็รู้ว่าเขาจะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ก็เมื่อมองที่สิ่งที่ตัวเองมี สิ่งที่ตัวเองทำได้ ยังโชคดีที่สมองไม่เป็นไร ยังใช้งานได้ รีฟได้เลือกที่จะช่วยให้สาธารณะมีจิตสำนึก และเข้าใจเรื่องการบาดเจ็บ ที่ไขสันหลัง ต้องการช่วยเหลือคนอื่น วางแผนที่จะพูด เขียน และสร้างหนัง

คุณค่าภายใน
เราจะเห็นว่าสภาวะจิตมีผลต่อความสุขมากกว่าวัตถุปัจจัยภายนอก บ่อเกิดภายในของความสุขอีกอย่างหนึ่ง ที่สัมพันธ์อยู่กับความพึงพอใจภายในจิตใจก็คือ ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ท่านทะไล ลามะ อธิบายถึงมูลฐานของการพัฒนาคุณค่าภายในตนว่า

"ในกรณีของอาตมาเอง ถ้าไม่มีความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ และขาดความ สามารถในการผูกมิตรกับผู้คน การต้องสูญเสียประเทศไป และหมดอำนาจทาง การเมืองในทิเบต แล้วกลายเป็นผู้ลี้ภัย คงจะทำให้มีชีวิตอยู่ได้ยาก เมื่ออยู่ในทิเบต ความเป็นทะไล ลามะ ก็มีผู้คนให้ความเคารพ ไม่ว่าเขาจะรักจริงหรือไม่ แต่ถ้ามีเพียงเท่านั้น เมื่อหมดอำนาจลง ก็คงจะลำบากมาก
แต่มันมีสิ่งอื่นๆ อีกที่เป็นคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งในหมู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าเราสัมพันธ์กันด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ เราก็จะรู้สึกถึงการมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ความสัมพันธ์กันด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์จะเป็นเครื่องจรรโลง ใจ ถ้าหากคุณต้องสูญเสียอย่างอื่นหมดทุกอย่าง

ท่านทะไล ลามะ หยุดพูดชั่วขณะและจิบชา แล้วก็สั่นศีรษะเล็กน้อยใน ขณะที่พูดต่อไปว่า "ถ้าคุณอ่านประวัติศาสตร์ จะพบตัวอย่างกลาดเกลื่อนว่าเมื่อจักรพรรดิ หรือกษัตริย์ที่หมดอำนาจแล้วถูกบังคับให้ออกจากประเทศ เรื่องราวหลังจากนั้นมักจะไม่เป็นไปในทางที่ดี ถ้าไม่มีความรักในเพื่อนมนุษย์และผูกพันกันด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ การดำรงชีวิตก็ลำบากมาก

อาจกล่าวว่ามีคนอยู่ ๒ จำพวก จำพวกหนึ่งเมื่อมั่งมีศรีสุข มีบริษัทบริวารมากก็รู้สึกมั่นคงดี แต่ถ้าคุณค่าของเขาอยู่ที่วัตถุอย่างเดียว เมื่อสิ่งเหล่านี้ปลาสไป เขาก็ลำบากมาก เพราะเขาไม่มีทุนอย่างอื่น แต่คนอีกจำพวกหนึ่งมีโภคทรัพย์เหมือนกัน แต่เขามีความรัก ความกรุณาในเพื่อนมนุษย์ด้วย เขาไม่ได้มีแต่วัตถุอย่างเดียว แม้โภคทรัพย์จะปลาสไป เขาก็ยังมีคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ

ความสุขกับความหฤหรรษ์
ความสุข = Happiness
ความหฤหรรษ์ = Pleasure

หลังจากท่านทะไล ลามะ แสดงธรรมที่แอริโซนาเป็นเวลาหลายเดือน หมอคัตเลอร์ได้ไปหาท่านยังที่ประทับที่ธรรมศาลา ทางตอนเหนือของอินเดีย ขณะนั้นเป็นเดือนกรกฎาคม อากาศร้อนมาก เขาเหงื่อตกทีเดียวหลังจากเดินไปจากหมู่บ้าน ที่แอริโซนาเป็นทะเลทราย อากาศแห้ง แต่ที่ธรรมศาลาทั้งร้อนทั้งชื้น หมอคัตเลอร์ จึงมีความไม่สบายในตัวเป็นอย่างยิ่ง และอารมณ์ไม่ค่อยดี เมื่อนั่งลงคุยกับท่าน ตรงกันข้ามกับท่านทะไล ลามะ ที่อารมณ์ดีอย่างยิ่ง คุยกันไปสักพักหนึ่งก็มีประเด็น เรื่องความหฤหรรษ์ ท่านทะไล ลามะ กล่าวว่า

"บางครั้งคนเราก็สับสนระหว่างความสุขกับความหฤหรรษ์ ตัวอย่างเช่นไม่นานมานี้ อาตมาไปปาฐกถาให้คนอินเดียฟังที่เมืองราชปูร์ ถึงเรื่องวัตถุประสงค์ของชีวิตคือความสุข ผู้ฟังคนหนึ่งลุกขึ้นพูดว่าราจนีช* สอนว่า ช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดคือขณะที่ประกอบกิจกรรมทางเพศ ฉะนั้น โดยทางเพศเราอาจมีความสุขที่สุด"
ท่านทะไล ลามะ เล่าพลางหัวเราะ

"เขาต้องการรู้ว่าอาตมาคิดอย่างไรในความคิดนั้น อาตมาตอบว่าในความเห็นของอาตมา ความสุขสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อบรรลุอิสรภาพ อย่างที่ไม่มีความทุกข์อีกเลย นั่นเป็นความสุขที่แท้จริงและจีรัง ความสุขที่แท้จริงสัมพันธ์อยู่กับจิตใจ ความสุขที่พึ่งความหฤหรรษ์ทางกายไม่ยั่งยืน เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี"Ž


หมอคัตเลอร์ว่า ความสุขกับความหฤหรรษ์แตกต่างกัน แต่เรามักจะสับสนระหว่าง ๒ อย่างนี้ เขาได้เจอของจริงในการรักษาผู้ป่วย ฮีเธอร์เป็นหญิงทำงาน ยังเป็นโสด อยู่แถวเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา เธอเริ่มบ่นว่าทำเลที่เธออยู่มันไม่ดี ผู้คนหนาแน่นขึ้น การจราจรชักแย่ อากาศก็ร้อนจัดในฤดูร้อน เธอได้รับการเสนองานใหม่ในเมืองเล็กในภูเขา เธอชอบที่นั่นมาก แต่งานที่นั่นเกี่ยวกับผู้ใหญ่ งานเก่าของเธอเกี่ยวกับวัยรุ่น เธอพยายามตัดสินใจว่าจะรับงานใหม่ดีหรือไม่ดี พยายามวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย วิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีกก็ตัดสินใจไม่ได้ เธอมาปรึกษาหมอคัตเลอร์ซึ่งเป็นจิตแพทย์
ในการพูดของเธอมีคำว่า "หฤหรรษ์" (Pleasure) ทำให้หมอคัตเลอร์นึกถึงคำพูดของท่านทะไล ลามะ จึงถามหญิงที่มาปรึกษารายนี้ว่า

"คุณคิดว่าการย้ายไปอยู่ที่ใหม่จะทำให้คุณมีความสุข หรือความหฤหรรษ์"Ž

เธอหยุดคิดไปพักใหญ่ ในที่สุดก็ตอบว่า "ฉันไม่รู้ แต่คิดว่ามันจะเป็นความหฤหรรษ์มากกว่าความสุข ฉันไม่คิดว่าฉันจะมีความสุขกับลูกค้าใหม่ที่เป็นผู้ใหญ่ ฉันมีความสุขในการทำงานกับเด็กมากกว่า"Ž

โดยการตั้งมุมมองเกี่ยวกับความสุขเสียใหม่ ทำให้เธอชัดเจนขึ้น และตัดสินใจได้ การตัดสินใจด้วยจิตสำนึก ทำให้เธอทนต่อความร้อนในฟีนิกซ์ได้ดีขึ้น
ทุกวันเราเผชิญอยู่กับการต้องตัดสินใจ และที่ยากก็คือที่จะต้องสละความหฤหรรษ์เป็นเวลาเป็นศตวรรษๆ ที่ผู้คนพยายามจะนิยามบทบาทที่เหมาะสมของความหฤหรรษ์ในชีวิตของคน นักปรัชญา นักการศาสนา นักจิตวิทยา พยายามหาคำอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างความหฤหรรษ์กับชีวิต

ในศตวรรษที่ ๒๐ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้าทางสมองว่าส่วนไหนของสมองเกี่ยวข้องกับความหฤหรรษ์ เราไม่ได้ต้องการนักอะไรเหล่านี้เลย เรารู้จักความหฤหรรษ์เมื่อเรารู้สึกมัน เรารู้สึกเมื่อสัมผัสกับใบหน้าที่ยิ้มแย้มของคนที่เรารัก ความงามของดวงอาทิตย์ที่กำลังตกดิน บางคนก็รู้ถึงความหฤหรรษ์ที่เกิดจากการเสพโคเคน เฮโรอีน เหล้า เพศสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความหฤหรรษ์จริงๆ ในชีวิต และยากมากที่เราจะหลีกเลี่ยงความหฤหรรษ์ที่เป็นโทษ

คำสอนของท่านทะไล ลามะ ถึงความแตกต่างระหว่างความสุขกับความหฤหรรษ์จะช่วยให้เรามีหลักคิดในการตัดสินใจ การมีปัญญารู้เท่าทันจะทำให้เราสามารถสร้างความสุขที่แท้จริงได้

 

ข้อมูลสื่อ

311-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี