• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กริยา : เดาติ Dhauti (1)

เรายังคงอยู่ในเรื่องของ "กริยา" ซึ่งเป็นเทคนิคเสริม เพื่อช่วยเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมต่อการฝึกเทคนิคโยคะต่างๆ โดยเฉพาะเทคนิคโยคะที่สูงขึ้น เช่น ปราณยามะและสมาธิ ซึ่งต้องการความพร้อมของร่างกายและจิตใจมากเป็นพิเศษ

กริยามีอยู่ด้วยกัน 6 กลุ่ม เรากล่าวถึง ตาตระกะ (ดวงตาและท่อทางเดินน้ำตา) เนติ (โพรงจมูก) กะปาละบาติ (ระบบหายใจ) ไปแล้ว คราวนี้ เรามาพูดถึงกลุ่มที่ 4 เดาติ อันเป็นการดูแลระบบย่อยอาหารส่วนบน

กริยาในกลุ่มเดาติเอง ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก ซึ่งในกลุ่มย่อยนี้ มีอยู่กลุ่มหนึ่งเรียกว่า หริตะเดาติ (Hriddhauti) โดยหริตะเดาติมีวิธีการฝึกทำได้ 3 แบบคือ วามันเดาติ วาสตระเดาติ และตันตะเดาติ (ยิ่งศึกษาเราจะยิ่งพบว่า เทคนิคโยคะนั้นหลากหลายและมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่ท่าอาสนะอย่างที่คนทั่วไปรับรู้)

วามันเดาติ
คำว่าเดาติ โดยตัวมันเองแปลว่า การชำระล้างอยู่แล้ว ส่วนคำว่า วามัน หมายถึง อาเจียน ดังนั้น วามันเดาติ คือการชำระล้างระบบย่อยอาหารส่วนบนและกระเพาะอาหารด้วยการอาเจียน ซึ่งใช้น้ำเป็นสื่อในการทำ ชื่ออีกชื่อหนึ่งของวามันเดาติ คือกุญชะกรณี กุญชะ มาจากคำว่า กุญชร หรือช้าง กรณี หมายถึง การกระทำ รวมกันก็คือ การกระทำอย่าง ช้าง ซึ่งทำให้เรานึกเห็นภาพของเทค-นิคนี้ได้ง่าย คือช้างที่ใช้งวงพ่นน้ำออกมานั่นเอง

วามันเดาติ เป็นการทำความสะอาดท่อทางเดินอาหาร และ กระเพาะอาหารด้วยน้ำ โยคีจะฝึกวามันเดาติตอนเช้าก่อนกินอาหารใดๆ เข้าไป ด้วยการดื่มน้ำอุ่นที่ผสม เกลือเล็กน้อย เข้าไปเป็นจำนวนมาก เกินปกติ (ประมาณ ๒ ลิตรขึ้นไป) อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุด น้ำปริมาณ มากเกินปกตินี้จะเข้าไปล้นกระเพาะ และกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนออกมาทันที

สำหรับผู้ฝึกเบื้องต้น อาจพบว่าตนเองต้องใช้นิ้วลงไปล้วงคอเป็น การช่วยให้อาเจียน ส่วนผู้ที่ฝึกทำจนชำนาญ จะสามารถอาเจียนออกมาได้โดยง่าย วามันเดาติ เป็นการทำความสะอาดกระเพาะ รวมทั้งหลอดอาหาร ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกโล่งสบาย ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้เป็นปกติ
วามันเดาติ มีผลต่อการทำงาน ของรีเฟล็กซ์ (reflex) ที่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และหลอดลม (รีเฟล็กซ์คือกลไกของอวัยวะภายในร่างกายที่ทำหน้าที่ "รับรู้ความรู้สึก" และส่งสัญญาณความรู้สึกเหล่านั้นกลับไปยังสมอง) วามันเดาติ ทำให้รีเฟล็กซ์ที่บริเวณอวัยวะเหล่านี้ทำงานได้ตามปกติ

การฝึกวามันเดาติ เป็นการกระตุ้นกลไกการอาเจียน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของสัตว์ รวมทั้งมนุษย์ ในการควบคุมระบบย่อยอาหารของตนให้เป็นปกติ ยกตัวอย่างเช่น เวลาสุนัขหรือแมวที่บ้านกินอาหารผิดสำแดง มันก็อาเจียนออกมาได้โดยง่าย ทุกวันนี้ เมื่อมนุษย์มีปัญหาเกี่ยวกับอาหารที่กินเข้าไป เราหันไปกินยา พึ่งยา จนกระทั่งสัญชาตญาณในการอาเจียนเพื่อดูแลระบบย่อยอาหารของตนเอง อันเป็นกลไกตามธรรมชาติ ค่อยๆ เสื่อมไป

การฝึกเดาติจึงเป็นการดูแลสุขภาพ ดูแลกลไกการทำงานของร่างกายให้ดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ เป็นการช่วยฟื้นฟูกลไกการดูแลตนเองของเรา อย่าลืมว่าโดยพื้นฐาน สุขภาพเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องพึ่งตนเอง นอกจากนั้นวามันเดาติยังช่วยให้การรับรู้รสอาหาร ความเจริญ อาหารของมนุษย์ทำงานได้เป็นปกติ กล่าวคือทำให้เราสามารถกินอาหารตามความจำเป็นของร่างกายอย่างแท้จริง มีความประมาณตนในการกิน สามารถหยุดได้ทันทีที่ร่างกายได้อาหารเพียงพอแล้ว มิใช่การกินอาหารตาม ความอยากในรสอาหาร ซึ่งทำให้เราเป็นคนกินอาหารรู้จักพอดี เป็นการช่วยลดปัญหาของระบบย่อยอาหาร รวมถึงปัญหาน้ำหนักตัวมากเกิน โดยการแก้ที่ต้นตอเลยทีเดียว

และอย่างที่ได้เน้นย้ำมาตลอดว่าเทคนิคโยคะไม่ใช่เทคนิคทางกายภาพ เท่านั้น แต่จะหมายรวมถึงด้านจิตใจควบคู่ไปพร้อมๆกันเสมอ วามันเดาติเป็นการฝึกให้เราสามารถอาเจียนออกได้ตามธรรมชาติ มีผลให้เราเป็นคน "แสดงออก" ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะพวกเราคนไทย ที่มีนิสัยขี้อาย เก็บอารมณ์ ไม่พูด ไม่แสดงออก ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของคนไทย แต่ในบางครั้งก็เก็บมากเกินไป อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารระหว่างกัน กล่าวคือ ทางด้านจิตใจ การฝึกวามันเดาติ ช่วยให้เราเป็นคนแสดงออกได้อย่างสมดุล ไม่มากไม่น้อยเกินไป ทุกวันนี้ในเชิงบำบัดมีการนำเทคนิความันเดาติไปให้ผู้ป่วยโรคหืดหอบฝึก ซึ่งผลที่ได้คือ ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น อธิบายได้ว่า ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้ป่วยโรคหืดหอบ มักเป็นคนที่มีอาการเก็บกดมากเกินไปด้วยนั่นเอง

พึงระลึกว่าเทคนิคเหล่านี้ โยคีออกแบบมาเพื่อเตรียมความพร้อม ของร่างกายและจิตใจตนเองไปเพื่อการฝึกเทคนิคโยคะขั้นสูง (เช่นเพื่อเตรียมที่จะเข้าเงียบหรือเตรียมที่จะนั่งสมาธิเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน เป็นต้น) ดังนั้น เราที่เป็นคนปกติ จึงควรใช้วิจารณญาณ ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนฝึก ผู้ที่เป็นโรค ควรฝึกเทคนิคนี้ภายใต้การดูแลของหมอ หรือครูโยคะผู้ชำนาญ เพื่อให้เราได้ประโยชน์ โดยหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
 

ข้อมูลสื่อ

311-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์