• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิ่งแวดล้อมกับการทำงาน

ในสองฉบับที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงแสง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานกับคอมพิวเตอร์โดยตรง อย่างไรก็ดีมีสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำงานคอมพิวเตอร์และการทำงานประเภทอื่นๆ อีก เช่น ความร้อน เสียง การถ่ายเทอากาศ ความชื้น ความสั่นสะเทือน ความกดอากาศ เป็นต้น แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเรื่องความร้อน ร่วมไปกับความชื้นและการถ่ายเทอากาศ และจบท้ายด้วยเรื่องของเสียง

ความร้อนและการถ่ายเทอากาศ
การทำงานในที่อากาศร้อนหรือเย็นเกินไปย่อมมีผลต่อความรู้สึกเหนื่อยล้า ความตื่นตัว ความกระตือรือร้นที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพของการทำงานอย่างเต็มที่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ทำงานจะต้องทำงานอยู่ในที่ที่มีอากาศสบาย จึงมีคำถามว่าแล้วอย่างไรถึงเรียกว่าอากาศสบาย โดยทั่วไปเราจะนึกถึงอุณหภูมิที่ไม่ร้อนเกินไป ซึ่งอาจนึกถึงฤดูหนาวที่เมื่อทำงานแล้วไม่รู้สึกว่าเหนื่อย อึดอัด เหนียวตัว อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณา นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ความชื้นของอากาศและการถ่ายเทอากาศ นอกจากนั้น ก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแต่ละบุคคล เช่น อายุ เพศ ขนาดของร่างกาย ความสามารถในการตอบสนองแลกเปลี่ยน ความร้อนของร่างกายกับสิ่งแวดล้อมภายนอก กิจกรรมหรืองานที่ทำ และเสื้อผ้า สิ่งที่ปกคลุมร่างกาย เป็นต้น

โดยปกติแล้วร่างกายมีการแลกเปลี่ยนความร้อนกับสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ร่างกายมีอุณหภูมิคงที่ ซึ่งอุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ ๓๗องศาเซลเซียส อาจจะน้อยหรือมากกว่านี้ประมาณ ๑ องศาเซสเซียส ขึ้นอยู่กับบุคคล เวลา และกิจกรรมที่ทำ ดังนั้น ความร้อนที่ร่างกายได้รับ หรือที่ร่างกายสร้าง ขึ้นมาจากกิจกรรมต่างๆ ต้องมีการถ่ายเท ซึ่งร่างกายสามารถถ่ายเทออกโดยกระบวนการต่างๆ กัน เช่น การถ่ายเทโดยมีตัวกลางพาไป เช่น ให้ลมพัดผ่านพาความร้อนออกไปจากผิวหนังของร่างกาย การแผ่ความร้อน

ซึ่งต้องการสภาพที่อุณหภูมิภายนอกร่างกายต่ำกว่าในร่างกายถึงจะต้องมีการถ่ายเทความร้อนด้วยการแผ่ได้ และการระเหยโดยอาศัยการหลั่งเหงื่อและเมื่อเหงื่อระเหยออกก็จะนำพาความร้อนออกไปด้วย

ในภาวะงานปกติ ที่งานไม่หนักมากนักร่างกายจะผลิตความร้อนออกมาเป็นผลพลอยได้จากการทำงานของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ประมาณ ๔๕๐ วัตต์ หรือความร้อนของร่างกายจะสูงขึ้นประมาณ ๑ องศาเซสเซียส ทุก ๑๐ นาที สำหรับงาน สำนักงานซึ่งถือว่าเป็นงานเบา ก็จะมีการใช้พลังงานประมาณ ๑๐๐ วัตต์ ดังนั้น ร่างกายต้องถ่ายเทความร้อนออก มิเช่นนั้นอาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติไป หรือถ้าหนักอาจทำให้หลอดเลือดแตกได้

ดังนั้น ร่างกายจึงมีการตอบสนอง เช่น ให้เลือดไหลเวียนมากขึ้น ต่อมเหงื่อขยายและเหงื่อออกมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าอากาศ เย็นร่างกายจะตอบสนองด้วยการทำให้หลอดเลือด หดตัวและมีการสั่น ซึ่งถือว่าเป็นการบังคับให้กล้ามเนื้อทำงานแล้วก่อให้เกิดความร้อนในร่างกาย
ความรู้สึกว่าร้อนหรือไม่ร้อนนั้นขึ้นอยู่กับการถ่ายเทอากาศ และความชื้นในอากาศด้วย เช่น ถ้าอากาศร้อน แต่มีการระบายอากาศดี และความชื้นในอากาศไม่มาก เราจะรู้สึกสบายตัว เพราะร่างกายสามารถทำให้ความร้อนถูกนำพาด้วยลม หรือให้ระเหยออกไปทางเหงื่อได้ แต่ในทางตรงข้าม ถ้าอากาศร้อนชื้น ไม่มีลมพัด เราจะรู้สึกว่าไม่สบายตัวอย่างมาก เนื่องจากหงื่อไม่ระเหย ความร้อนของร่างกายก็ไม่ถูกถ่ายเทออกไป

ดังนั้น การช่วยให้ร่างกายรู้สึกสบายในการทำงาน อาจต้องทำการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และการถ่ายเทอากาศด้วย ด้วยการเปิดหน้าต่างให้ลมพัดถ่ายเท แต่ถ้าอุณหภูมิภายนอกสูงมาก ก็อาจใช้พัดลม หรือแอร์คอนดิชันเนอร์เข้าช่วย โดยพัดลมจะช่วยเรื่องการทำให้ความร้อนถ่ายเทออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น ขณะที่แอร์คอนดิชันเนอร์จะลดอุณหภูมิของห้องลงโดยตรง ซึ่งโดยทั่วไปจะแนะนำให้อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ ๒๕ องศาเซลเซียส แต่หากงานที่ทำนั้นเป็นงานหนักร่างกาย มีความร้อนถ่ายเทออกมามาก อุณหภูมิที่ตั้งไว้อาจต้องตั้งให้ต่ำลงไปอีก

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการช่วยการถ่ายเทอากาศหรือรักษาอุณหภูมิ อาจทำได้โดยการเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่ และชนิดของเส้นใยผ้า ดังนั้น ผู้ที่ทำงานควรสวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับลักษณะของอุณหภูมิการระบายอากาศ และลักษณะของงานนั้นๆ สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่ในที่ที่ร้อนมากๆ อาจจำเป็นต้องดื่มน้ำให้มากกว่าปกติเพื่อชดเชยน้ำในร่างกายที่อาจสูญเสียไปกับเหงื่อ

เสียงและเสียงรบกวน
เสียงที่เกิดขึ้นในขณะที่ทำงานในสำนักงานและงานคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นได้จากเครื่องมืออุปกรณ์ และการทำงาน เช่น เสียงเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ดีด จากเครื่องพรินเตอร์ เสียงการเปิด ฉีกกระดาษ นอกจากนั้นก็เป็นเสียงของการพูดคุย เสียงเหล่านี้แปรเปลี่ยนเป็นเสียงรบกวนได้ ถ้าหากเสียงนั้นเราไม่ต้องการ เช่นขณะที่เราพิมพ์งานอาจมีเสียงคนพูดคุยที่เข้ามารบกวน ทำให้มีผลขั้นต้นคือ ก่อให้เกิดความรำคาญ การเสียสมาธิในการทำงาน และอาจทำให้ผลงานลดน้อยลง หรือมีการทำงานที่ผิดพลาด ซึ่งความเสียหายจากความผิดพลาดนี้อาจรุนแรงได้

อย่างไรก็ตาม เสียงที่เกิดขึ้นในงานสำนักงาน หรืองานคอมพิวเตอร์นั้นยังไม่ค่อยดังจนทำให้มีผลต่อการนอนหลับหรือส่งผลต่อการสูญเสียสุขภาพของหูเท่าไรนัก แต่เสียงที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะก่อให้เกิดอาการหูหนวกแบบชั่วคราวหรือถาวรได้

ในการวัดคุณภาพของเสียง จะดูกันที่ความถี่ของ เสียง ความดังและความสม่ำเสมอของเสียง ซึ่งความถี่ของเสียงในย่านที่คนสามารถรับฟังได้คือ ๒๐-๒๐,๐๐๐ เฮิรตซ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเสียงที่ต่ำกว่า ๒๐ เฮิรตซ์หรือสูงกว่า ๒๐,๐๐๐ เฮิรตซ์จะไม่สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อหูได้ ย่านความถี่เสียงที่หูรับฟังได้ดีจะอยู่ที่ ๑,๐๐๐-๔,๐๐๐ เฮิรตซ์ในขณะที่เสียงที่เกิดจากการพูดคุยของคนจะอยู่ในช่วง ๕๐๐-๒,๐๐๐ เฮิรตซ์

ความดังของเสียงจะวัดเป็นหน่วยเดซิเบลโดยที่ศูนย์เดซิเบลคือ เสียงที่เบาที่สุดที่มนุษย์สามารถได้ยินได้ และ ๑๔๐ เดซิเบล คือความดังสูงสุดที่สามารถรับฟังได้ในช่วงระยะเวลาสั้นมาก โดยอาจทำให้เกิดเยื่อหูฉีกขาดได้

โดยปกติเสียงที่เกิดขึ้นในสำนักงานมักจะเป็นเสียงพูดคุย ซึ่งหากยืนห่างกันประมาณ ๑ เมตร ระดับความดังจะอยู่ที่ประมาณ ๖๐-๖๕ เดซิเบล เสียงการสั่งงานอยู่ที่ ๖๕-๗๐ เดซิเบล และเสียงตะโกนเรียกกันจะอยู่ที่ ๘๐-๘๕ เดซิเบล เสียงที่ดังไปกว่านี้มักจะเป็นเสียงของเครื่องจักร เช่น เสียงของรถยนต์บนท้องถนน อยู่ที่ ๙๐ เดซิเบล เครื่องตัดหญ้า สว่านไฟฟ้า รถแทรก-เตอร์ อยู่ที่ประมาณ ๑๐๐ เดซิเบล เสียงเครื่องบิน ขณะออกตัว อยู่ที่ประมาณ ๑๒๐ เดซิเบล ซึ่งถือว่าเป็น ช่วงที่เริ่มก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายต่อหู

มีการกำหนดระยะเวลาของการเผชิญต่อความดังของเสียง โดยมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อยในแต่ละ ประเทศ โดยทั่วไปจะกำหนดไว้ว่า หากต้องอยู่ในที่ที่เสียงดัง ๙๐ เดซิเบลจะสามารถทำงานได้ประมาณ ๘ ชั่วโมง หากสูงกว่านั้นระยะเวลาจะลดลงมาเรื่อยๆ เช่น ที่ ๑๐๐ เดซิเบลจะสามารถทำงานได้เพียงแค่ ๑ ชั่วโมงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าหาก ทำตามที่กำหนดแล้ว จะไม่ทำให้เกิดปัญหาหูตึงหรือหูหนวก เพราะการหูหนวกเกิดขึ้นได้ไม่เท่ากันในแต่ละคน ซึ่งมีเพศและวัยที่แตกต่างกัน และช่วงความถี่ที่ไม่ค่อยได้ยินก็แตกต่างกันไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือให้เสียงนั้นเบาที่สุดและมีเวลาอยู่กับเสียงนั้นน้อยที่สุด

ในการลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากเสียงนั้นสามารถทำ ได้โดยดูจากต้นกำเนิดเสียง การเดินทางของเสียง และที่หูของคนที่ถือว่าเป็นตัวรับเสียง ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่ไปลดเสียงใน ๓ จุดที่กล่าวก็สามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง เสียงได้ เพียงแต่ว่าวิธีใดจะเหมาะสมหรือนำไปใช้ได้มากน้อยกว่ากัน ในที่นี้จะขอนำเสนอตัวอย่างการแก้ไขเพื่อนำไปลองใช้กัน
๑. ทำการดูแลรักษา ซ่อมแซมเครื่องจักร หยอดน้ำมัน เพื่อลดการเสียดสีที่อาจทำให้เกิดเสียงดังได้
๒. รองด้วยยาง ฟองน้ำ หรือวัสดุซับเสียงที่เครื่องจักร เพื่อลดการสะเทือนหรือการกระทบที่ก่อให้เกิดเสียง
๓. บุห้องหรือก่อผนังเพื่อซับเสียงก่อนที่จะเข้ามาสู่หู
๔. ใส่หูฟังเพื่อลดเสียงให้เข้าสู่หูน้อยลง
๕. ทำการสลับผู้ที่ทำงาน (หากสามารถเปลี่ยนงานกันทำได้) กับเครื่องจักรที่ทำงาน เช่น คนที่ทำงานกับเครื่องจักรที่เสียงดังมาก พอทำงานไประยะหนึ่งก็สลับงานกับคนที่ไปทำงานกับเครื่องจักรที่เสียงดังน้อย
๖. ทำการฝึกอบรมให้มีความชำนาญในการทำงาน และการดูแลเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพที่ไม่ก่อเสียง

หวังว่าความรู้เรื่องความร้อนและเสียงที่นำเสนอคงช่วยให้ผู้อ่านมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นและไม่มีการป่วยไข้ หรือปัญหาใดๆ เนื่องจากการทำงาน

ข้อมูลสื่อ

310-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 310
กุมภาพันธ์ 2548
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา