• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การพัฒนาทัศนคติ

โยคะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทัศนคติอย่างยิ่ง ในเรื่องของการมีสำนึกกำกับอยู่กับกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อการพัฒนาวินัยในตนเอง และเพื่อฝึกฝนตนเอง เรียกว่า ยมะ และ นิยมะ

ยมะนั้นเป็นการบังคับ – ห้าม เพื่อฝึก เพื่อจัดปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะทัศนคติที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมนั้น ที่หากไม่บังคับเอาไว้ จะนำไปสู่การก่อให้เกิดปัญหาในสังคม

ขณะที่นิยมะเน้นการสร้าง พัฒนานิสัยและทัศคติที่ดีๆ ให้เกิดมากขึ้นๆ ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า vrata ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต vrt หรือพฤติ อันหมายถึง พฤติกรรม หรือการทำ โดยมี a ต่อท้ายเป็น vrata แสดงถึงทิศทางของพฤตินั้นไปในทางที่ดีขึ้น

Vrata หากแปลเป็นคำภาษาไทยที่ใกล้เคียง ก็อาจจะเป็นปฏิญาณ อันหมายถึงความมุ่งมั่นที่จะจัดปรับพฤติกรรมของตนไปในทิศทางที่สูงขึ้น  เป้าหมายของปฏิญาณก็เพื่อช่วยให้เรามีความก้าวหน้าในเรื่องของไวราคยะ หรือทัศนคติของการละวาง และวิเวก หรือการมีวิจารณญาณแยกแยะเหตุผลเบื้องหลังการที่โยคะให้ความสำคัญกับเรื่องของปฏิญาณ น่าจะเป็นเพราะ สมองชั้นนอก (cortex) ของมนุษย์นั้นดูเหมือนพอจะมีความสามารถในการควบคุมการทำงานในสมองซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลไกอัตโนมัติทั้งสิ้น (ยกเว้นเฉพาะตอนอยู่ในห้วงอารมณ์อย่างเต็มที่ ที่เราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้)

โยคะเชื่อว่า โดยการใช้สติกำกับอย่างเป็นระบบ เสริมด้วยการใช้เหตุผล ก็ทำให้เราสามารถฝึกระบบประสาทอัตโนมัติไปในทิศทางที่ต้องการ เพราะเมื่อฝึกได้ดี ไม่ว่าอารมณ์หรือสัญญาณประสาทอัตโนมัติจะแรงแค่ไหน มันก็ไม่อาจจะสั่งการกลไกต่างๆ ได้ โดยไม่มาปรึกษาสมองส่วน cortex เสียก่อน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆ แล้วที่มนุษย์เป็นมนุษย์ได้ก็เพราะกระบวนการของการควบคุมตนเองได้นี่เอง ที่เราเรียกว่า อารยธรรม หรือวัฒนธรรม ก็คือผลลัพธ์จากกระบวนการนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์

สัตว์ส่วนใหญ่ทำไปตามสัญชาตญาณเท่านั้น พฤติกรรมของมันควบคุมโดยอารมณ์ต่างๆ เช่น ความกลัว ความรัก ความโกรธ ฯลฯ มีเพียงมนุษย์ (หรืออาจมีสัตว์ชั้นสูงบางประเภท) ที่มีจินตนาการและใช้วิจารณญาณด้วยกระบวนการนี้ แต่ละยุคสมัยที่ผ่านมา มนุษย์ก็ค่อยๆ เอาชนะธรรมชาติแห่งความเป็นสัตว์ในตนเอง ค่อยๆ ยกตนเองให้สูงขึ้นๆ

แต่หากเราวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ทั่วๆ ไปในปัจจุบัน เราก็จะพบว่าทุกวันนี้ คนยังไม่เป็นอิสระจากสัญชาตญาณเท่าใดนัก กว่าร้อยละ 75 ของการกระทำมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือในสังคม ตกอยู่ภายใต้กลไกที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งบ่อยครั้งแฝงมาในรูปของ “การใช้เหตุผลที่ผิด” (กล่าวคือ เราทำไปโดยสัญชาตญาณ แต่เข้าใจไปเองว่า เราทำไปด้วยเหตุผล ซึ่งการกระทำนั้น ไม่เหมาะไม่ควร เราก็หลอกตนเองว่า เรา ”ใช้เหตุผล” ผิด)
ธรรมชาติมนุษย์มีทั้งสัญญาณประสาทที่สร้างสรรค์และที่ทำลาย (ซึ่งจิตวิทยาสมัยใหม่เรียกว่า เชิงบวกกับเชิงลบ) ความสุขหรือความทุกข์ของมนุษย์ขึ้นกับความชำนาญในการควบคุมสัญญาณเหล่านี้

ความหายนะส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบัน สงครามต่างๆ ความขัดแย้ง การต่อสู้ และ การแบ่งฝักฝ่าย เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ยังคงต้องเดินทางอีกยาวไกล บนหนทางแห่งการควบคุมตนเอง หากพูดแบบฟรอยด์ สิ่งสำคัญของจิตบำบัดคือ เพื่อเพิ่มพลังของอัตตา (ego) และลดทอนกำลังของสัญชาตญาณระดับต่ำ id หรือการเพิ่มพื้นที่ของความสามารถในการใช้เหตุผล

สมองของเราอาจไม่สามารถเอาชนะสัญชาตญาณภายในได้โดยทันที แต่ความมุ่งมั่นก็จะให้ผลอย่างแน่นอน ซึ่งในภาษาโยคะเรียกว่า “ภาวนา” อันหมายถึงการนำกลับเข้าสู่จิต ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยความมุ่งมั่น ดูเหมือนฟรอยด์จะพูดไว้ได้อย่างชัดเจน

“เราอาจจะยืนกรานอย่างไรก็ได้ว่า สมองของมนุษย์อ่อนแอกว่าสัญชาตญาณ และไม่รู้สึกผิดที่เป็นเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตาม มีอะไรซ่อนอยู่ในความอ่อนแอนี้ เสียงของความใฝ่ดีนั้นอาจจะเบา แต่ไม่เคยหยุดจนกว่าเราจะได้ยิน ถึงที่สุดแล้ว จากการสะกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่หยุดหย่อน มันก็จะสำเร็จ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีเหตุผลที่จะมองโลกในแง่ดีถึงอนาคตของมนุษยชาติ ความใฝ่ดีนั้นแม้จะยังอยู่ในระยะทางที่ห่างไกล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปไม่ถึง”

เราได้อ้างถึงคำพูดของฟรอยด์ในที่นี้เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดต่อทัศนะของฟรอยด์ในเรื่องสัญชาตญาณ และมองว่าการยับยั้งชั่งใจเป็นเรื่องของการเก็บกด โดยลืมไปว่าทุกๆกระบวนการพัฒนานั้น จะต้องมีการควบคุม มีการยั้งสัญญาณประสาททั้งสิ้น ต่อเมื่อ id โดนกำกับโดยสำนึกขั้นสูง super ego (ไม่ว่าจะในระดับใต้สำนึกหรือไร้สำนึก) เท่านั้น ที่เป็นเรื่องของการเก็บกด แต่ตัว ego นั้นสามารถสอนจิตได้ ego เองมีความพยายามและมีความอดทน
การแย่งชิงกันระหว่าง id กับ super ego นั้น โยคะเรียกว่า vicchinnata แปลว่า การขวางกั้น

การขวางกั้นนี้เป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างอารมณ์ที่รุนแรง ๒ อารมณ์เท่าๆ กัน ในชีวิตของคนปกติ เมื่ออารมณ์หนึ่งเกิดขึ้นมาก มันก็จะถือครองสภาวะหรืออารมณ์อื่นๆ ที่ด้อยกว่า ส่วน vicchinnata หรือการขวางกั้น เกิดขึ้นเฉพาะเมื่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง ๒ นั้นมีความรุนแรงเท่ากันและต่อต้านซึ่งกันและกันอยู่ การขวางกั้นนี้เองทำให้เกิดความขัดแย้งภายใน หรืออังกะเมจยตวา ซึ่งรบกวนสมดุลระหว่างกายและใจ ในทัศนะของโยคะ ความขัดแย้งนี้ คือปัจจัยหลักที่ลดทอนภูมิต้านทาน และสร้างความผิดปกติต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายใน

มาตรการที่โยคะให้ไว้ เพื่อป้องกันรวมทั้งเพื่อจัดปรับให้ดีขึ้นก็คือ การปฏิบัติยมะและนิยมะ เพื่อดูแลทางด้านจิต ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ก็ให้อาสนะและปราณายามะจัดการส่วนของกายภาพ ซึ่งในฉบับนี้อธิบายด้านจิตเป็นหลัก


 

 

ข้อมูลสื่อ

320-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์