(Berrington de Gonzalez A, Darby S. Risk of cancer from diagnostic X-rays : estimates for the UK and 14 other countries. Lancet 2004;363: 345-51.)
การตรวจด้วยรังสีเอกซ์เป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกายมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 14 ของแหล่งกำเนิดรังสีทั้งหมดทั่วโลก.
ข้อมูลจาก 15 ประเทศ เกี่ยวกับความถี่และประเภทของรังสีเอกซ์ที่มีการใช้ในประเทศต่างๆ เทียบกับสถิติมะเร็งและเปรียบเทียบระหว่างปริมาณรังสีที่อวัยวะเฉพาะที่ได้รับ.แสดงว่าอวัยวะที่ได้รับรังสีมากที่สุดคือต่อมไทรอยด์ ได้ขนาดเฉลี่ย 44 mGy จากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ที่ตรวจกระดูกต้นคอ. การทำ CT ที่หน้าอกทำให้เต้านม, ปอด หลอดอาหารได้รับรังสีไม่ต่ำกว่า 20 mGy. ส่วนการตรวจ CT ที่ท้องทำให้กระเพาะอาหารได้รังสีไป 22 mGy, ทำ CT ที่บริเวณช่องเชิงกรานทำให้กระเพาะปัสสาวะได้รับไปไม่ต่ำกว่า 23 mGy. Angiography และ catheterization ของหลอดเลือดหัวใจก็ทำให้อวัยวะใกล้เคียงคือ ปอด (37 mGy) ไทรอยด์ (25 mGy) และหลอดอาหาร (13.79 mGy) ได้รับรังสีกันถ้วนหน้า. ผู้วิจัยคำนวณปริมาณรังสีที่แต่ละอวัยวะได้รับ แล้วไปดูว่าสัมพันธ์กับมะเร็งของอวัยวะต่างๆ จากการคำนวณความเสี่ยง พบว่า เฉพาะในประเทศอังกฤษ อุบัติการณ์ของมะเร็งร้อยละ 0.6 ในแต่ละปีนั้นมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการได้รับรังสีจากการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ (attributable risk, AR) คิดเป็น 700 รายต่อปี เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในประเทศญี่ปุ่นในสัดส่วนที่สูงสุด (AR ร้อยละ 3.2) ถึงปีละ 7,587 ราย. ในประเทศสหรัฐอเมริกา (AR ร้อยละ 0.9) ปีละ 5,695 ราย. มะเร็งที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่คือ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ เต้านม และมะเร็งเม็ดเลือด ความเสี่ยงจะมากขึ้นเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป. วิธีการตรวจที่มีส่วนเป็นสาเหตุมากที่สุดคือ การทำ CT รองลงมาคือจาก barium enema และการเอกซเรย์ที่ hip และ pelvis.
โดยสรุป ใน 15 ประเทศที่ศึกษา ร้อยละ 0.6-3.2 ของอุบัติการณ์มะเร็งทั้งหมด มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจทางรังสี.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D., รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 2,149 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้