Q โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงน่ากลัวจริงหรือไม่
A ปัจจุบันในประเทศไทย พบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงสูงขึ้น นอกจากนี้พบบ่อยขึ้นในประชากรที่มีกลุ่มอายุน้อยลง รวมทั้งพบว่าประชากรที่กลุ่มอายุน้อยนี้มักมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีเมื่อเทียบกับที่พบในประชากรที่มีอายุมากกว่า.
Q อาการอย่างไรบ้างที่น่าสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
A โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้อง คลำก้อนได้บริเวณช่องท้อง เบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับท้องเสีย ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไป เช่น เป็นก้อนลีบเล็ก อุจจาระเหลว อุจจาระสีดำ หรือมีมูกหรือเลือดปนกับอุจจาระ มีความรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด ผอมลง น้ำหนักลด. บางรายอาจพบแพทย์เนื่องจากมีอาการซีด เพลีย หรือมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย โดยในจำนวนนี้เริ่มแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวารหนัก หรือธาตุพิการ และมักรักษาด้วยตนเองหรือเปลี่ยนที่รักษาตามสถานพยาบาลต่างๆ ทำให้ไม่ได้รับการสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริงอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักพบแพทย์และได้รับการตรวจวินิจฉัยและทราบว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเมื่อระยะของโรคดำเนินไปมาก หรือระยะสุดท้าย ทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้.
Q มีวิธีการอย่างไรที่จะสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก
A การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในประชากรที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ทางระบบทางเดินอาหารทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกเป็นการตรวจที่แพร่หลายขึ้นในปัจจุบัน อนึ่งการตรวจคัดกรองโรคนี้ประกอบด้วยการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ทั้งประวัติส่วนตัวและประวัติการป่วยเป็นโรคมะเร็งของบุคคลในครอบครัว การตรวจร่างกาย ทั่วไป การตรวจร่างกายทางทวารหนักด้วยนิ้วมือ รวมถึงการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรง.
Q การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรงคืออะไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง
A การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ประกอบด้วยการทำความสะอาดลำไส้ใหญ่และ ไส้ตรงโดยการกินยาระบาย 1 วันก่อนเข้ารับการตรวจ จากนั้นแพทย์จะทำการส่องกล้องเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปวดจุกแน่นท้องในระหว่างการส่องกล้อง ดังนั้น ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการฉีดยาระงับปวดก่อนส่องกล้อง อนึ่งการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรงนี้มีข้อดีเหนือกว่าการเอกซเรย์สวนแป้งตรวจลำไส้ใหญ่ เนื่องจากสามารถเห็นพยาธิสภาพภายในลำไส้ใหญ่และไส้ตรงได้ด้วยตา. นอกจากนี้สามารถตัดหรือหยิบชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ได้ แม้ว่าจะมีข้อเสียคืออาจก่อให้เกิดอาการปวดแน่นท้องในระหว่างเข้ารับการตรวจมากกว่าการเอกซเรย์สวนแป้งตรวจลำไส้ใหญ่.
Q ใครบ้างที่สมควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
A สำหรับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรงนั้นแนะนำให้ทำในบุคคลต่อไปนี้
♦ อายุ 45 ปีขึ้นไป และมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร หรืออาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น.
♦ อายุ 40 ปีขึ้นไป และไม่มีอาการผิดปกติ แต่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- มีญาติสายตรงซึ่งได้แก่ บิดาหรือมารดา หรือพี่ หรือน้อง 1 คนเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือ ไส้ตรง.
- มีญาติ 2 คนเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือไส้ตรง.
♦ อายุ 15-20 ปีขึ้นไป โดยมีประวัติญาติสายตรง รวมถึงญาติคนอื่นๆ ในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง 3 คนขึ้นไป เนื่องจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงบางชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม.
♦ อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงและไม่มีอาการผิดปกติ.
♦ เคยได้รับการวินิจฉัยจากการเอกซเรย์สวนแป้งตรวจลำไส้ใหญ่ หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ว่ามีติ่งเนื้อยื่นที่ผนังลำไส้ใหญ่.
Q สามารถแจ้งความจำนงขอเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรงได้ที่ใดบ้าง
A สามารถเข้ารับบริการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวได้ ที่สถานพยาบาลชั้นนำทุกแห่ง โดยเข้ารับการตรวจกับศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาลำไส้ใหญ่และทวารหนักศัลยแพทย์ทั่วไป รวมถึงอายุรแพทย์สาขาระบบทางเดินอาหาร.
บรรณาธิการ
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ. ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้นิพนธ์
ธีรนุช บุญพิพัฒนาพงศ์ พ.บ.
อาจารย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
- อ่าน 7,203 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้