• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลดความดันเลือดสูง โดยไม่ใช้ยา

ลดความดันเลือดสูง โดยไม่ใช้ยา


ถาม : สมชาย/ระยอง

ผมอายุ 48 ปี มีความดันเลือดสูง คุณแม่ก็มีความดันเลือดสูงเหมือนกัน
กินยาลดความดันเลือดสูงมาประมาณ 3-4 ปี ครั้งแรกความดัน 200 กว่าๆ โดยไม่มีอาการใดๆ กินยามาตลอด ความดันลดลงมาได้แต่เริ่มมีอาการปวดหัว เหนื่อยง่าย ต่อมาหมอให้ยาแรงขึ้น อาการดีขึ้น
ปีที่แล้วตรวจเลือดพบว่าไตรกลีเซอไรด์สูงต้องกินยาลดโคเลสเตอรอลอีกทั้งหมอเปลี่ยนยาลดความดันเลือดทุก 6 เดือนขณะนี้ความดันเหลือ 115/85 ทุกวันนี้กินยา Posicor-50 mg, natrilix-2.5 mg, lipitor-10 mg
ปีแรกๆ ยาไม่แรงและค่ายาไม่เท่าไร สุดท้ายต้องจ่ายค่ายาประมาณมากกว่า 3 พันบาทต่อเดือน
การลดความดันเลือด มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่ไม่ต้องใช้ยา

ตอบ : นพ.มานพ พิทักษ์ภากร

" ความดันเลือด " เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินจากการรักษาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ถึงแม้ว่าความดันเลือดสูงจะเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ทว่าการรักษาที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ " ยา " แต่เป็นการ ปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่จะทำให้ความดันเลือดลดลงมาได้ รวมทั้งสามารถควบคุมความดันเลือดได้โดยใช้ยาไม่มากนัก

การปฏิบัติตัวที่ดีทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่จำเป็นต้องใช้ยา ได้แก่
1. การลดน้ำหนัก
ผู้ป่วยทุกรายที่อ้วนจะต้องพยายามลดน้ำหนักของ ตัวเองให้ลงมาอยู่ระดับมาตรฐาน (ไม่อ้วนไม่ผอม) จะช่วยลดความดันเลือดได้
2 ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ควรจะออกกำลังกายพอให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเกิน 100 ครั้ง ระยะเวลาประมาณ 30 นาทีต่อวัน อย่าออกกำลังกายอย่างหักโหมระยะสั้น เพราะไม่เป็นการเผาผลาญไขมันและไม่ช่วยลดความดันเลือด
3 กินอาหารที่มีเกลือน้อย
ไม่ได้แนะนำให้งดแต่ควรจะลดบ้าง เช่น ไม่กินอาหารเค็มจัดเน้นอาหารที่จืด
4. เลิกสูบบุหรี่ และเลิกดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
5 ทำจิตใจให้แจ่มใส อย่าเครียด หรืออดนอนติดต่อกันหลายวัน

สิ่งเหล่านี้ขอแนะนำให้ปฏิบัติ ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน แล้ววัดความดันเลือด ซึ่งมีหลายรายปฏิบัติ ได้ส่งผลให้ความดันเลือดลดลงระดับหนึ่งแล้ว
กรณีที่ความดันเลือดไม่ลดต่ำกว่า 140/90 จึงควรเริ่มใช้ยา
ยามีหลายกลุ่มหลายชนิด แต่ละชนิดมีความสามารถลดความดันเลือดและผลข้างเคียงแตกต่างกัน
การรักษาความดันเลือดโดยยา มีปัจจัยสำคัญคือ ความสม่ำเสมอของการรักษาสำคัญกว่าชนิดของยา เพราะยาดีราคาแพง ผลข้างเคียงน้อย แต่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาได้ต่อเนื่องก็ไม่ต่างจากการไม่ได้รักษา

สรุปว่าควรจะดูแลพฤติกรรมสุขภาพของตนเองควบคู่กับการรักษาด้วยยา