• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำผึ้ง เพื่อสุขภาพและความงาม

                                     
                                          
น้ำผึ้ง
คือน้ำหวานที่ผึ้งเก็บมาจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ โดยผึ้งจะกลืนน้ำหวานลงสู่กระเพาะน้ำหวาน ซึ่งจะมีเอนไซม์ช่วยย่อยน้ำหวานแล้วนำมาเก็บไว้ในหลอดรวงผึ้ง จากนั้นน้ำผึ้งค่อยๆบ่มตัวเองโดยการระเหยน้ำออกไปจนน้ำผึ้งมีปริมาณน้ำตามที่เข้มข้นขึ้นจนได้ระดับที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาผึ้งงานก็จะปิดฝาหลอดรวง เราเรียกน้ำผึ้งนี้ว่า "น้ำผึ้งสุก" เป็นน้ำผึ้งที่ได้มาตรฐาน คือมีน้ำอยู่ไม่เกินร้อยละ 20-21 แต่ถ้าหากเก็บน้ำผึ้งในหน้าที่มีน้ำมากไม่มีการระเหยน้ำออกมาให้อยู่ในมาตรฐานอาจทำให้เกิดกระบวนการหมัก ทำให้น้ำผึ้งมีรสเปรี้ยวและเกิดแก๊สขึ้น อาจมีการระเบิดได้ถ้าเก็บไว้ในขวดแก้วที่ปิดสนิท ดังนั้นคนโบราณจึงนิยมให้ใช้น้ำผึ้งเดือนห้า เพราะปริมาณน้ำน้อยและมีดอกไม้หลายชนิดบานในช่วงเวลาดังกล่าว
 

คุณภาพของน้ำผึ้งที่ได้มานั้นย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ หรือชนิดของเกสรดอกไม้ที่ผึ้งได้ไป รวมถึงแหล่งของพืชและพื้นดินนั้นๆ ที่ผึ้งเจริญเติบโตอยู่ เพราะฉะนั้นน้ำผึ้งที่ได้จากรังผึ้งในป่าใหญ่ จึงมีความสมบูรณ์และมีแร่ธาตุอาหารที่แตกต่างจากน้ำผึ้งเลี้ยง ส่วนน้ำผึ้งเลี้ยงจะมีการเติมน้ำหวานจากน้ำตาลและเกสรเทียมซึ่งทำให้คุณค่าลดน้อยลงไป

วิธีสังเกตว่าเป็นน้ำผึ้งแท้จากธรรมชาติทำได้โดยการนำน้ำผึ้งใส่ไว้ในขวด ตั้งทิ้งไว้สักพัก จะพบว่ามีเกสร ดอกไม้ลอยอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นลักษณะตามธรรมชาติของน้ำผึ้งป่านั่นเอง

มาดูถึงคุณประโยชน์ของน้ำผึ้งกันบ้าง จะพบว่าในน้ำผึ้งมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับที่มีในผักใบเขียวและยังมีวิตามินบี ซี ฟอสฟอรัส แคลเซียม เกลือแร่ และกรดอะมิโน

น้ำผึ้งยาอายุวัฒนะของทุกชนชาติ
ทุกชนชาติทั้งจีน ยุโรป เอเชีย แอฟริกา อินเดียต่างมีความเชื่อร่วมกันว่า น้ำผึ้งมีสรรพคุณบำรุงสุขภาพและเป็นยาอายุวัฒนะ

หมออายุรเวทถือว่าน้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะและไม่เพียงมีคุณค่าทางยาเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอีกด้วย เช่น ใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาเทพเจ้า

ทางยาหมออายุรเวทเชื่อว่าน้ำผึ้งมีสรรพคุณชำระล้างบาดแผล รักษาแผล สมานเนื้อเยื่อ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ตรีโทษ ลดไขมัน บำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล เสริมสร้างสติปัญญา และบำรุงกำหนัด นิยมใช้ในการแก้ไอ แก้หอบหืด ร่างกายซูบโทรม รักษาอาการบาดเจ็บ หมายถึงถูกกระทบกระแทกแล้วร่างกายบอบช้ำ ทั้งยังใช้แก้อาเจียน แก้สะอึก วิงเวียน มึนงง แก้ท้องเสีย (ใช้น้ำผึ้งเก่า) แก้อาการเลือดออกง่าย แก้กระหาย เป็นลม รักษาโรคเกี่ยวกับตา แก้พิษ และรักษาโรคพยาธิ เป็นต้น เวลาใช้จริงส่วนใหญ่มักไม่ใช้น้ำผึ้งอย่างเดียวล้วนๆ แต่จะผสมในยากวนบ้าง ผสมในยาดอง หรือไม่ก็ใช้เป็นกระสายยา และยังใช้น้ำผึ้งผสมเพื่อให้กินง่ายขึ้น

น้ำผึ้งในตำรับยาไทย
ส่วนน้ำผึ้งในตำรับยาไทยนั้นมีการใช้คล้ายกันกับการใช้ของทางอายุรเวทคือใช้เป็นน้ำกระสายยา ใช้แต่งรสยาและใช้เป็นยา โดย หมอบุญยืน ผ่องแผ้ว แพทย์แผนไทยประจำคลินิกหนองบง จังหวัดลพบุรี ก็กรุณาเล่าให้ฟังดังนี้

- น้ำผึ้งช่วยแต่งรสยา
น้ำผึ้งมีรสหวานฝาด ร้อนเล็กน้อย มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ปวดหลัง ปวดเอว ทำให้แห้ง ใช้ทำยาอายุวัฒนะ เราใช้น้ำผึ้งแต่งรสยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไข้ที่มีรสขมมาก จนผู้ป่วยกินไม่ได้ เราต้องใช้น้ำผึ้งผสมให้มีรสหวานนิดหนึ่ง รสยาก็จะอร่อยขึ้น และช่วยชูกำลัง ซึ่งน้ำผึ้งเข้าได้กับตำรับยาทุกชนิด

- น้ำผึ้งหนึ่งในน้ำกระสายยา
น้ำกระสายยาคือส่วนผสมหนึ่งของตำรับยาไทย ที่ช่วยให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น ซึ่งมีหลายชนิด เช่น จากพืช (น้ำมะนาว) จากธาตุ (เปลือกหอยนำมาฝนกับน้ำ) จากสัตว์ (งาช้าง)

น้ำผึ้งที่ถือเป็นน้ำกระสายยาตัวหนึ่งที่มีฤทธิ์แรงทำให้ตัวยาดูดซึมเร็วขึ้น ช่วยกระตุ้นการทำงานของไต และกระจายเลือด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีกำลังมากขึ้น หรือบางครั้งนำน้ำผึ้งมาผสมกับยาปั้นเป็นลูกกลอน แต่ผู้ปรุงยาควรนำน้ำผึ้งไปเคี่ยวให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรค มิฉะนั้น ยาลูกกลอนจะขึ้นราภายหลัง

ผู้ป่วยที่ไม่ควรกินน้ำผึ้ง
ตามหลักการแพทย์แผนไทยแล้ว น้ำผึ้งมีประโยชน์มากมายก็จริง แต่สำหรับผู้ป่วยบางราย แนะนำว่าไม่ควรกินน้ำผึ้งแบบเข้มข้นโดยไม่ผสมอะไรเลยและไม่ควรกินน้ำผึ้งในปริมาณมากเกินไป ประเภทครั้งละครึ่งแก้วไม่ดีแน่ อย่างเก่งแค่ครั้งละ 1 - 2 ช้อนชา

สารสำคัญในน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งประกอบด้วยน้ำประมาณร้อยละ 20 น้ำตาลชนิดต่างๆ เช่น กลูโคส ฟรักโทส และลีวูโลส ประมาณร้อยละ 79 โดยมีปริมาณน้ำตาล "ฟรักโทส" มากกว่าน้ำตาล "กลูโคส" เล็กน้อย ทำให้น้ำผึ้งไม่ตกผลึก และมีรสหวานกว่าน้ำตาลชนิดอื่นๆ

กรดชนิดต่างๆ ประมาณร้อยละ 0.5 ทำให้น้ำผึ้งมีรสเปรี้ยวเล็กน้อยโดยกรดที่พบมาก คือ กรดกลูโคนิก วิตามิน (ไรโบฟลาวิน ไนอะซิน) เอนไซม์ และแร่ธาตุ (แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส) ประมาณร้อยละ 0.5 โดยน้ำผึ้งที่มีสีเข้ม จะมีปริมาณแร่ธาตุสูงกว่าน้ำผึ้งที่มีสีอ่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบหลักของน้ำผึ้ง คือน้ำตาล และเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย โดยน้ำผึ้ง 100 กรัม จะให้พลังงาน 303 แคลอรี

น้ำผึ้งมีคุณสมบัติทางยาคือ สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ เพราะน้ำผึ้งมีความเข้มข้นของน้ำตาลสูง ซึ่งความเข้มข้นนี้เองจะช่วยกำจัดปริมาณน้ำที่แบคทีเรียใช้ในการเจริญเติบโต รวมถึงน้ำผึ้งมีความเป็นกรดสูง และมีปริมาณโปรตีนต่ำ ซึ่งทำให้แบคทีเรียไม่ได้รับไนโตรเจนที่จำเป็น นอกจากนี้น้ำผึ้งยังมีสารไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ และสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งจะมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียด้วย ดังนั้นเมื่อเราใช้น้ำผึ้งทาบาดแผลจึงสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้และทำให้แผลไม่เกิดการอักเสบ

เอนไซม์ในน้ำผึ้งมีหลายชนิด มีหน้าที่ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ น้ำผึ้งจึงมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ และแก้อาการท้องผูกในเด็กและผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

เปลี่ยนน้ำผึ้งเป็นอาหารและยา
1. รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลและลดการอักเสบ
น้ำผึ้งถือว่าเป็นยารักษาแผลชั้นเลิศ โดยสามารถใช้แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้ผลชะงัดนัก โดยให้ใช้น้ำผึ้งทาบริเวณที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก ยิ่งทาบ่อยยิ่งดี หรือถ้าเกิดถูกมีดบาดหรือมีบาดแผล หลังจากล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาดแล้ว ให้น้ำผึ้งทาหรือจะใช้น้ำผึ้งผสมกับผงขมิ้นชัน คลุกเคล้าให้เข้ากันดี แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นแผล จะช่วยลดการอักเสบและช่วยให้แผลหายเร็ว เพราะทั้งน้ำผึ้งและขมิ้นชันนั้น มีสรรพคุณรักษาบาดแผล สมานเนื้อเยื่อและบำรุงผิวอีกด้วย

2. รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา
ใช้ผงขมิ้นผสมน้ำผึ้งทาบริเวณกลากเกลื้อน วันละ 2 ครั้ง

3. ต้านข้ออักเสบ
ผสมน้ำส้มแอปเปิ้ลไซเดอร์ 2 ช้อนชาลงในน้ำร้อน เติมน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ชงดื่มวันละ 2 ครั้ง

4. แก้อาการท้องผูกและแก้ท้องเสีย
น้ำผึ้งเป็นทั้งยาระบายและแก้ท้องเสีย กล่าวคือถ้าเป็นน้ำผึ้งเก่าคือน้ำผึ้งที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปจะช่วยแก้ท้องเสีย แต่ถ้าเป็นน้ำผึ้งใหม่ประเภทเพิ่งเก็บจากรังไม่นานจะมีสรรพคุณเป็นยาระบาย โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ก่อน 6 เดือน ชาจะเป็นยาระบายในเด็กอ่อนที่ปลอดภัยยิ่ง การใช้น้ำผึ้งแท้สักประมาณ 1 ช้อนชา ผสมน้ำต้มสุกสัก 3 ช้อนหรืออาจกินร่วมกับผักผลไม้ เช่น การกินกล้วยน้ำว้าสุกจิ้มน้ำผึ้งหรือมันต้มสุกจิ้มน้ำผึ้ง ช่วยลดอาการท้องผูกได้เช่นกัน

5. แก้นอนไม่หลับ
น้ำผึ้งเป็นยาระงับประสาทอ่อนๆ ชงน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่นหรืออาจใส่ในชาดอกไม้ เช่น ชาดอกคาโมมายล์ ดื่มก่อนนอนจะช่วยให้หลับสบายขึ้น

6. บำรุงเลือด
เทน้ำผึ้งครึ่งช้อนโต๊ะใส่แก้ว บีบน้ำมะนาว 1 ซีก ใส่เกลือนิดหน่อยเติมน้ำร้อน ดื่มเป็นยาบำรุงเลือด

7. บรรเทาอาการไอ
ถ้าเป็นหวัดก็ให้ใช้น้ำผึ้งผสมกับน้ำคั้นจากขิงแก่ ดังตำรับตัวอย่างคือ
ส่วนผสม : น้ำผึ้ง 500 กรัม ขิงสด 1.2 กิโลกรัม (1 ชั่ง)
วิธีทำ : คั้นขิงสดเอาแต่น้ำ แล้วนำมาผสมกับน้ำผึ้งต้มจนแห้ง
วิธีกิน : กินครั้งละขนาดเท่าลูกอมจะช่วยบรรเทาอาการไอเรื้อรัง หรือบีบมะนาวฝานสดๆ 1 เสี้ยวเข้าปากให้ลงลำคอ และจิบน้ำผึ้งแท้ 1 ช้อนโต๊ะ อมไว้ หายไอดีมาก
นอกจากนี้การใช้น้ำผึ้งผสมกับน้ำคั้นจากใบกะเพราแดงและน้ำคั้นจากใบเสนียด แก้ไอ และบรรเทาอาการหอบหืด ได้ผลชะงัดนักกับอาการไอที่ไม่ค่อยมีเสมหะ แต่ถ้าไอมีเสมหะ ก็จะใช้น้ำผึ้งผสมกับผงดีปลีแทน

8. เป็นอาหารสุขภาพสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ส่วนผสม : น้ำผึ้งและงาดำ อย่างละ 50 กรัม
วิธีทำ : ตำงาดำให้ละเอียดแล้วคลุกกับน้ำผึ้ง
วิธีกิน : ชงกับน้ำร้อนดื่มรักษาโรคความดันโลหิตสูงและบรรเทาอาการท้องผูกเรื้อรัง

สำหรับผิวหน้าสดใส
น้ำผึ้งเป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่ใช้ในการดูแลผิวพรรณคู่กับน้ำนมมาอย่างยาวนาน นับแต่สมัยพระนางคลีโอพัตราอันเลอโฉมแห่งอียิปต์ คือน้ำผึ้ง ในน้ำผึ้งมีสารเพิ่มความชุ่มชื้น มีฮอร์โมนมีสารที่มีฤทธิ์สารต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถผสมในสมุนไพรอื่นที่มีสรรพคุณในการบำรุงผิวเช่น นม กล้วย มะละกอ ขมิ้น บัวบก มะม่วง เป็นต้น โดยพอกหน้า ทิ้งไว้สักครู่ประมาณ 5 นาทีแล้วล้างออก

สำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวเสี้ยนหรือต้องการบำรุงผิวหน้าให้ดูอ่อนเยาว์ มีวิธีง่ายๆ ดังนี้ หลังจากล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นและเช็ดให้แห้งแล้ว นำกล้วยหอมครึ่งลูกมาบดผสมกับน้ำผึ้งไม่ผ่านความร้อน แล้วนำมาทาบนหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออก
ให้ใช้น้ำผึ้งไม่ผานความร้อนจะมีเอนไซม์ ซึ่งทำให้หน้าคุณชุ่มชื่นและนุ่มนวลขึ้น

เพื่อผมเงางาม
หลังสระผมเสร็จนำน้ำผึ้งไม่ผ่านความร้อนผสมกับน้ำมะกอกอย่างละ 3 ช้อนโต๊ะ นำมาชโลมผมแล้วทิ้งไว้ซัก 3-5 นาที จึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด ผมคุณจะนิ่มและเงางามตามธรรมชาติปราศจากสารเคมีใดๆ

อ้างอิงจาก http://www.th.wikipedia.org

ข้อมูลสื่อ

360-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 360
เมษายน 2552
ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร