• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คูน

คูน

 “สมุนไพรที่นำเสนอนี้ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้ต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย”

                        

คูณ

⇒ ชื่ออื่น

กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง), ปือยู, ปูโย, เปอโซ, แมะหล่ายู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลมแล้ง(ภาคเหนือ), เช็งเซียซัวเพียงเต่า, อาเหล็กปก(จีน), Golden Shower,Indian Laburnum,Pudding-pine Tree, Purging Cassia

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Cassia fistula L. วงศ์ Caesalpiniaceae

⇒ ลักษณะ
เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกนอกสีเทาผิวเรียบ ใบเป็นใบประกอบ ที่ปลายก้านเป็นใบคู่ ใบย่อยมี 4-8 คู่ ตัวใบลักษณะรูปไข่ยาว 5-15 ซ.ม. กว้าง 3.5-5 ซ.ม. ปลายใบแหลม โคนก้านใบร่วมพองออกเล็กน้อยที่บริเวณติดกับกิ่ง ดอกออกเป็นช่อห้อยลงมาจากง่ามใบ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นแผ่นบาง ๆ ยาว 1-1.5 ซ.ม. กลีบดอกมี 5 กลีบสีเหลืองสด ปลายมน เห็นลายเส้นชัดเจน ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ซม. เกสรตัวผู้มี 10 อันยาวไม่เท่ากัน บางอันฝ่อไป รังไข่เป็นเส้นยาวงอขึ้น ผลเป็นฝักทรงกระบอกยาว ส่วนปลายสุดแหลมสั้น ฝักแก่สีดำ เปลือกนอกบาง และแข็งเหมือนไม้ ยาว 30-60 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 ซม. ภายในมีแผ่นกั้นเป็นห้อง ๆ ตามขวาง แต่ละห้องมีเมล็ด 1 เม็ด เมล็ดกลมแบน ยาว 8 มม. กว้าง 6 มม. หนา 4 มม. ผิวนอกมีสารอ่อนนุ่มสีดำหุ้มเมล็ด คูนพบปลูกเป็นไม้ประดับริมถนน ออกดอกในฤดูร้อน สีเหลืองทั้งต้นดูสวยงามมาก หรือพบขึ้นเองตามป่าโปร่งทั่วไป โดยเฉพาะในภาคอีสานมีมาก

⇒ ส่วนที่ใช้
ฝัก ดอก ใบ แก่น เปลือก ราก และรากใช้เป็นยา
ฝัก เก็บเมื่อแก่มีสีดำ ตากแห้งเก็บไว้ใช้ ฝักรสขมหวาน เปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน ๆ เฉพาะตัว ฝักที่ดีควรสมบูรณ์ไม่มีก้าน แห้ง และเขย่าไม่มีเสียง
เนื้อในฝัก ฝักแก่แกะเปลือกนอกและเมล็ดออก สกัดด้วยน้ำร้อนกรอง แล้วระเหยน้ำออกในที่ความดันต่ำ ได้ของเหลวข้นสีดำนำมาใช้
ใบ ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้
ดอก ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้
แก่น ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้
เปลือกราก ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้

⇒ สรรพคุณ
ฝัก รสหวานขม เย็นจัด ไม่มีพิษ ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้เด็กเป็นตานขโมย เป็นยาถ่ายและแก้ไข้มาลาเรีย
เนื้อในฝัก รสหวานเอียน ใช้เป็นยาถ่ายและยาระบายในคนที่ท้องผูกเป็นประจำ แก้บิด แก้ไข้มาลาเรีย ใช้ภายนอกพอกแก้ปวดข้อ
เมล็ด ใช้เป็นยาระบาย และเป็นยาทำให้อาเจียน
ดอก ใช้เป็นยาถ่าย หล่อลื่นลำไส้ แก้โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร และแผลเรื้อรัง
ใบ เป็นยาถ่าย แก้อัมพาต และโรคเกี่ยวกับสมอง
ใบอ่อน แก้ไข้รูห์มาติค (Rheumatic fever) ใช้ภายนอก ตำพอกหรือคั้นเอาน้ำทาแก้กลากเกลื้อน ตำทาถูนวดแก้ปวดข้อ และแก้กล้ามเนื้อบนใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก (โรคปากเบี้ยว)
เปลือกต้น เป็นยาช่วยเร่งคลอด แก้ท้องร่วงและใช้ย้อมหนังสัตว์
เนื้อไม้ แก้รำมะนาด
แก่น ใช้ขับพยาธิไส้เดือน
เปลือกราก เป็นยาระบาย แก้ไข้มาลาเรีย
ราก ใช้เป็นยาบำรุง และยาถ่ายอย่างแรง แก้ไข้ แก้โรคเกี่ยวกับหัวใจ แก้โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ใช้ภายนอกแก้ปวดข้อ (ใช้พอก)

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ฝัก 30 กรัม ใช้ต้มน้ำกิน
เนื้อในเมล็ด 4-8 กรัมผสมกิน
เมล็ด 5-6 เม็ด บดเป็นผงกิน

⇒ ตำรับยา
1. แก้กลากและโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ใช้ใบสดตำให้ละเอียดพอกหรือถูทาบริเวณที่เป็น
2. เป็นยาถ่ายหรือยาระบายในผู้ใหญ่ ใช้เนื้อในฝัก 8 กรัม ผสมมะขามเปียก หรือน้ำตาลขนาดเท่ากัน ถ้าต้องการถ่ายแรงให้กินขนาด 30-60 กรัม ขนาดสูงอาจทำให้มีอาการปวดมวนท้อง คลื่นไส้และอืดแน่นได้
3. เป็นยาทำให้อาเจียน ใช้เมล็ด 5-6 เม็ด บดเป็นแผงกิน

⇒ ผลรายงานทางคลินิกของจีน
แก้โรคกระเพาะอาหาร ใช้ฝัก 30 กรัม ใส่น้ำต้มให้เหลือ 10 มล. กินครั้งเดียวหมด ครั้งละ 10 มล. วันละ 3 ครั้ง (ต้องไม่นำยาไปต้มซ้ำอีก) กินติดต่อกัน 7 วัน เป็น 1 รอบของการรักษาจากคนไข้ 56 ราย (รวมทั้งคนที่ป่วยเป็นแผลที่กระเพาะอาหาร แผลที่ลำไส้เล็ก กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง) ได้ผลแก้ปวดดีมาก ยังใช้เป็นยาระบาย แก้ท้องผูกกรดในกระเพาะอาหารมีมากเกินไป เบื่ออาหาร ใช้ยาต้มให้เดือด พอประมาณกิน ถ้าต้มนานเกินกว่า 8 ชั่วโมง ยาจะไม่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย กลับทำให้ท้องผูก ยานี้ต้มกินมากเกินไป จะทำให้อาเจียน ฝักที่ไม่แก่จัดใช้เป็นยาระบายได้ดีกว่า

⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
น้ำสกัดจากใบ เปลือกต้น เปลือกราก และเนื้อในฝัก ขนาด 1 กรัม ต่อ100 กรัม ของน้ำหนักตัวของสัตว์ทดลอง มีฤทธิ์แก้อาการอักเสบของหนูใหญ่สีขาวได้อย่างมีนัยสำคัญ เปลือกรากมีฤทธิ์แรงที่สุด อาจเนื่องจากสารพวกฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ช่วยลดการซึมผ่านของของเหลวที่หลอดเลือดฝอย โดยทำให้หลอดเลือดหดตัวโดยตรง
น้ำสกัดจากเนื้อในฝัก มีผลเล็กน้อยต่อความดันเลือดของสุนัขและแมวที่ทำให้สลบ และมีฤทธิ์กดหัวใจกบและกระต่ายที่แยกออกจากตัว สารสกัดขนาด 80 กก. หรือมากกว่านี้จะมีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ลำไส้เล็กของกระต่ายและหนูตะเภาที่แยกออกจากตัว และยังมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบลำไส้เล็กของสุนัข ในขนาด 25 กม. -1 กรัม มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกที่แยกออกจากตัวหนูใหญ่เล็กน้อย

ยังมีรายงานว่า คูนใช้เป็นยาลดไข้ บรรเทาปวดอย่างมีนัยสำคัญ เนื้อในฝักขนาด 250 กรัม หรือมากกว่านั้นหลังจากกินยานี้ 6-9 ชั่วโมง จะทำให้ถ่ายมากที่สุด และหมดฤทธิ์หลังกินยานี้แล้ว 24 ชั่วโมง ฤทธิ์ทำให้ถ่ายนี้เนื่องจากสารแอนทราควิโนน (anthraquinones) ในพืช
เนื้อในฝักที่สกัดเอาน้ำตาลออก มีฤทธิ์ในการทำให้ถ่ายมากกว่าเนื้อในฝักที่ไม่ได้สกัดน้ำตาลออก ขนาด 12 มก. ต่อหนูเล็ก 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 20 กรัม เป็นขนาดใช้น้อยที่สุดที่ทำให้ถ่าย โดยเปรียบเทียบกับการใช้ใบมะขามแขก

สารสกัดจากใบ เปลือกต้น เนื้อในฝัก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดด้วยอีเธอร์ (ether) จากเนื้อในฝักมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้แรงที่สุด สารสกัดนี้ 1 กรัม มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้แรงกว่าว่าคลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) 100 ไมโครกรัม (จากการทดลองในหลอดทดลอง) ทำให้เข้าใจว่าฤทธิ์ฆ่าเชื้อนี้อาจเนื่องจาก rhein สารสกัดด้วยอะซิโตน (acetone) จากเปลือกราก เปลือกต้น มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา Microsporum tonsurans, Trichophyton rubrum และ T. megninii สารสกัดจากเปลือกรากมีฤทธิ์แรงที่สุด ขนาด 100 มก. แรงกว่ากรีซีโอฟลูวิน (griseofulvingon) 16 ไมโครกรัม (จากการทดลองในหลอดทดลอง) ฤทธิ์ฆ่าเชื้อรานี้ อาจเนื่องจากฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ต่อมามีการสกัดเปลือกรากด้วยอะซีโตน (acetone) ได้ฟลาโวนอยด์กลัยโคซัยด์ (flavonoidglycosides) 5 ชนิด มีสาร C F R I ซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์กลัยโคซัยด์ตัวหนึ่งที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา และฤทธิ์ฆ่าเชื้อรานี้จะหมดไปเมื่อไม่มี free hydroxyl group
ฝักและเปลือกรากสกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส Ranikhet disease virus และ vaccinia virus นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูใหญ่สีขาวอีกด้วย

⇒ หมายเหตุ
ฝัก ใช้เป็นยาถ่าย ในอัฟริกา ใช้เป็นยาแก้มาลาเรีย
เปลือกฝัก ทำให้แท้งลูก ใช้ขับรกค้าง
เนื้อในฝัก ในโรดีเซียใช้แก้ไข้มาลาเรียที่มีอาการปัสสาวะสีดำ (Black water fever) โรคแอนแทรคซ์ (Anthrax) บิด และใช้พอกแก้ปวดข้อ (Gout and rheumatism)
เมล็ด ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน (ใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เม็ด บดเป็นผงกิน) และใช้เป็นยาระบาย
ดอก ใช้เป็นยาถ่ายและยาหล่อลื่นลำไส้ ต้มน้ำกินใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารในอินเดียใช้ทำของหวาน ปรุงอาหาร และแก้ไข
ใบ เป็นยาถ่าย ใบแห้งบด เป็นผงใช้เป็นยาระบาย น้ำต้มจากใบอ่อนใช้แก้กลาก แก้ไข้รูห์มาติค (Rheumatic fever) และเป็นยาถ่าย
เปลือกต้นและใบ บดผสมน้ำมันพืชใช้พอกฝี กลาก แผล แมลงกัดต่อย แก้กล้ามเนื้อบนใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก (Facial paralysis) ปวดข้อ (Rheumatism)
เปลือกต้น ใช้ย้อมหนัง หรือใช้ฝนร่วมกับหญ้าฝรั่น (Crocus Sativus L.) น้ำตาล และน้ำดอกไม้เทศกิน ทำให้เกิดลมเบ่งช่วยในการคลอด นอกจากนนี้ชาวอีสานใช้เปลือกต้นนี้เคี้ยวแทนเปลือกสีเสียดและใช้แก้ท้องร่วงอย่างแรง
แก่นไม้ใช้ขับพยาธิไส้เดือนแก่นไม้แข็งแรงใช้ทำด้ามขวาน เสาบ้าน เสาสะพาน ไม้ถือ ด้ามเครื่องมือต่าง ๆ
ราก ใช้เป็นยาบำรุง แก้ไข้ โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี และเป็นยาถ่ายอย่างแรง เปลือกรากสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ใช้แก้ไขมาลาเรีย ที่มีอาการปัสสาวะดำ (Black water fever)

 

ข้อมูลสื่อ

23-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 23
มีนาคม 2524
อื่น ๆ
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ