• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้อักเสบ / ยาปฏิชีวนะ

“เด็กเป็นแผลพุพองเป็นหนองขึ้นหลายแห่งอย่างนี้ หมอจะให้ยาปฏิชีวนะไปกินด้วย” หมอบอกกับแม่เด็ก
“แล้วคุณหมอไม่ให้ยาแก้อักเสบด้วยหรือคะ?” แม่เด็กถาม

คุณหมอฟังแล้วก็ตอบอย่างตัดบทว่า “ยาปฏิชีวนะก็คือ ยาแก้อักเสบอย่างเดียวกันนั่นแหละ”
ความจริงแล้วทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกัน และในปัจจุบันก็มียาอยู่ทั้ง 2 ชนิดที่มีสรรพคุณและการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ยาปฏิชีวนะ
(Antibiotics) เป็นยาที่ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อที่ทำให้เกิดหนองฝีต่างๆ) ตัวอย่างเช่น เพนิซิลลิน แอมพิซิลลิน เตตราซัยคลีน คลอแรมเฟนิคอล ซัลฟา คาน่ามัยซิน สเตรปโตมัยซิน เป็นต้น ยาเหล่านี้จะใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ กุ้งยิง ปอดอักเสบ ไข้หวัดชนิดน้ำมูกเหลืองเขียว เป็นต้น

ที่สำคัญคือ ยาชนิดนี้ไม่สามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัส ดังนั้นคนที่เป็นไข้หวัด น้ำมูกใส หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส คางทูม ไข้เลือดออก ตับอักเสบจากไวรัส (โรคดีซ่าน) เริม งูสวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ การรักษาเพียงแต่ให้ยาบรรเทาตามอาการ ปล่อยให้ร่างกายขจัดเชื้อโรคเองตามธรรมชาติ

ยาแก้อักเสบ
(Anti-inflamatory drugs) หมายถึง ยาที่ใช้ลดการอักเสบต่างๆซึ่งจะแสดงอาการปวด บวม แดง ร้อน และบางครั้งอาจเป็นไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วย ส่วนมากมีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น แผลอักเสบเป็นหนอง ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือปอดอักเสบ เป็นต้น

ส่วนน้อยเกิดขึ้นโดยไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อ แต่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อภาวะบางอย่าง เช่น โรคปวดข้อจากความเสื่อม เช่น ปวดข้อเข่าในคนสูงอายุหรือคนอ้วน โรคเอสแอลอี (SLE) ซึ่งเกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อต่างๆของตัวเอง ทำให้มีไข้และปวดตามข้อต่างๆนานเป็นแรมเดือน โรคไตเนโฟรติก (Nephrotic Syndrome) ซึ่งเกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อไตของตัวเอง ทำให้มีอาการบวมทั้งตัว เป็นต้น

ยาแก้อักเสบที่หมอชาวบ้านกล่าวขวัญถึงบ่อยก็คือ ยากลุ่มสเตอรอยด์ (Steroid) เช่น เพรดนิโซโลน เดกซาเมทาโซน เป็นต้น ซึ่งใช้ลดการอักเสบได้สารพัด แต่ก็มีโทษมหันต์ ควรใช้โดยแพทย์เท่านั้น ห้ามใช้กันเอง แต่ยาตัวนี้จะมีผสมอยู่ในยาชุดแทบทุกชนิด อันตรายของยาชุดก็อยู่ที่ยาตัวนี้นี่เอง
ยาแก้อักเสบอีกชนิดนี้เรียกว่า ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (Non-steroid Anti-inflamatory drug) ย่อว่า NSAID (อ่านว่า เอ็น-เซด) ได้แก่ ยาที่ใช้รักษาอาการปวดข้อทั้งหลายแหล่รวมทั้งแอสไพริน ซึ่งใช้แก้ปวดลดไข้ ก็จัดว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบเช่นเดียวกับยาในกลุ่มนี้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบเป็นยาคนละชนิดกัน
แต่เนื่องจากยาปฏิชีวนะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ คนไข้ที่มีการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่อได้รับยาปฏิชีวนะเข้าไปอาการอักเสบจะทุเลาลงได้ จึงดูประหนึ่งว่า ยาปฏิชีวนะใช้แก้อักเสบได้ กล่าวคือ แก้ที่ต้นตอของโรคโดยตรง ไม่ใช่แก้ที่อาการอักเสบโดยตรง (แต่ถ้าเป็นการอักเสบที่ไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น คางทูม หรือโรคข้อเข่าเสื่อมซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ยาปฏิชีวนะก็ไม่สามารถลดการอักเสบในคนไข้เหล่านี้ได้)

เวลาไปหาหมอด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เมื่อหมอจ่ายยาปฏิชีวนะให้แทนที่จะบอกว่าเป็น “ยาปฏิชีวนะ” ซึ่งฟังแล้วยุ่งยากหรือเป็นวิชาการเกินไป ก็จะบอกว่าเป็น “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งฟังเป็นชาวบ้านๆดี

ยาปฏิชีวนะก็เลยกลายเป็นยาแก้อักเสบในภาษาชาวบ้าน
แต่ในภาษาแพทย์แล้ว เป็นคนละเรื่องกัน

ข้อมูลสื่อ

98-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช