• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาวะเกิดได้ด้วยกาย-ใจสมดุล

ปีใหม่นี้ ขอส่งความปรารถนาดีมายังผู้อ่านทุกท่านและขออวยพรให้มีร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง และมีความสุขอยู่ทุกวันคืน
   
เหนือสิ่งอื่นใด ขอให้มีปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเพื่อบรรลุซึ่งสุขภาวะและความสุข
   
ในโอกาสนี้ ผมขอพูดคุยถึงแง่คิดมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันต่อไป
ด้วยความรู้และประสบการณ์ส่วนตัว ผมคิดว่า ก่อนอื่นจำเป็นต้องมีความแจ่มชัดระหว่างเรื่องของกาย (วัตถุ) กับใจ (จิตใจ)
   
เมื่อพูดถึงคำว่า "ความสุข" เรามักมีความสับสนว่ามันหมายถึงอะไร เพราะมีการใช้กันดาษดื่น แม้แต่เคยใช้โฆษณาขายสินค้าว่า "ความสุขที่คุณดื่มได้"
   
ยิ่งอยู่ในยุควัตถุนิยมและบริโภคนิยมในปัจจุบัน ผู้คนโดยเฉพาะเยาวชนจะถูกมอมเมาว่า ความสุขเป็นสิ่งดีสามารถซื้อได้ด้วยเงิน จึงกระเสือกกระสนดิ้นรนแสวงหาเงินและวัตถุ เพื่อมาปรนเปรอความสุขให้ตัวเอง เช่น บ้านหรู รถยนต์ มือถือ สินค้ายี่ห้อดัง (แบรนด์เนม) อาหารอร่อย สิ่งบันเทิง เซ็กซ์ (เพศสัมพันธ์) เป็นต้น
   
ค่านิยมแบบนี้ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย เช่น การขายตัว ขายวิญญาณ อาชญากรรม ปัญหายาเสพติด โรคเอดส์ เป็นต้น 
เมื่อลดความสับสน ผมมักจะบอกกับผู้คน โดยเฉพาะเยาวชนว่า ต้องแยกความสุขทางกาย (วัตถุ) ออกจากความสุขทางใจ
   
ความสุขทางกายก็คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือตามกระแสนิยมดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง หมายถึงความสะดวกสบาย สนุกสนาน เอร็ดอร่อย เพลิดเพลิน ซึ่งต้องมีวัตถุเป็นเครื่องล่อและบ่อยครั้งที่ก่อให้เกิดทุกขภาวะรวมทั้งความเครียด ความขัดแย้ง และการเจ็บป่วยตามมา
   
ส่วนความสุขทางใจคือ ความปีติ เบิกบาน และสงบเย็น ที่ดำรงอยู่ภายในส่วนลึกของจิตใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการบริหารจิต (ให้มีสติ สมาธิ ปัญญาอันสมบูรณ์ ลดอัตตา กิเลส ความเห็นแก่ตัวลง) เช่น การทำสมาธิ เจริญสติ ภาวนา การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การออกกำลังกาย การบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหาด้วยเงิน สามารถเกิดขึ้นฉับพลันจากกิจกรรมต่างๆ มีผลต่อการหลั่งสารต่างๆภายในร่างกาย รวมทั้งสารเอนดอร์ฟีนส์ (สารสุข) และเพิ่มภูมิต้านทานโรค ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพกายและใจ และการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น
   
เมื่อพูดถึงความสุขเรามักหมายถึง ความสุขทางใจ ซึ่งถือว่าเป็นความสุขแท้ มากกว่า ความสุขทางกาย
   
แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตของคนเราจะต้องมีองค์ประกอบทั้งในเรื่องของกายและใจ ที่มีความกลมกลืนสมดุลกัน ไม่สุดโต่งไปขั้วใดขั้วหนึ่ง ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเรื่องการดำรงชีวิตกับการดูแลสุขภาพ
   
การดำรงชีวิตของคนเรา ถ้าขาดแคลนวัตถุ เช่น ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ก็ยากที่จะมีความสุขทางทั้งกายและใจ แต่ถ้ามัวแต่แสวงหาวัตถุ เงินทอง สะสมไว้มากเกินไป ก็จะมีแต่ความเครียด ขาดคุณภาพชีวิต ขาดความสงบสุขทางใจ แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวก ในชีวิตอย่างเหลือเฟือก็ตาม
   
ดังนั้น การมีเงินทองวัตถุมากก็ใช่ว่าจะมีความสุขแท้มากขึ้นตามไปเสมอ จะต้องหาจุดพอเหมาะคือ มีวัตถุพอประมาณ ขณะเดียวกันก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขทางใจควบคู่ไปด้วย ซึ่งก็คือการดำเนินชีวิตแบบทางสายกลางหรือพอเพียงนั่นเอง
   
ในการดูแลสุขภาพของคนเราก็เช่นกัน ก็ต้องมีการผสมผสานเรื่องกายกับใจเข้าด้วยกัน อย่าคิดว่าเมื่อจิตใจดี แล้วจะไม่เจ็บป่วย เช่น บางครั้งจะได้ยินเสียงตัดพ้อว่า             เป็นคนดีมีธรรมะแล้วทำไมจึงเป็นมะเร็ง ทั้งนี้เนื่องเพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมเกิดขึ้นจากปัจจัยทั้งทางกายหรือวัตถุ (เช่น พันธุกรรม อาหาร สารพิษ เชื้อโรค ฯลฯ               และจิตใจ (เช่น ความเครียด ความไม่รู้ ความประมาทเลินเล่อ ฯลฯ) จึงต้องรู้จักดูแลปัจจัยทั้ง ๒ ด้านพร้อมๆ กันไป
   
เมื่อเกิดป่วยเป็นโรค ก็อย่ามัวแต่พึ่งการรักษาด้านกาย (เช่น การใช้ยา การผ่าตัด การออกกำลังกาย การบริโภคอาหาร สุขภาพ ฯลฯ) เพียงด้านเดียว ควรมีการดูแลด้าน     จิตใจให้เข้มแข็งร่วมไปด้วย ก็มีส่วนช่วยให้โรคทุเลาหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
   
นายแพทย์วิโรจน์ เจียมจรัสรังสี แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการทบทวนงานวิจัยต่างๆ พบว่า การทำสมาธิ ฝึกโยคะ ชี่กง รำมวยจีน ซึ่งเป็นการบริหารจิตนั้นมีผลช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ลดอัตราตาย และอัตราการกำเริบซ้ำ ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาหาร น้ำหนักตัว ไขมัน และลดละบุหรี่ได้ดีขึ้น
   
ส่วนผลต่อการรักษาโรคมะเร็งนั้นถึงแม้ยังไม่มีความชัดเจนในการยืดอายุของผู้ป่วย แต่ก็ช่วยให้อารมณ์และคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยทำใจเผชิญกับเหตุการณ์ได้ดีขึ้นรวมทั้งช่วยลดการเจ็บปวดและอาการของโรค รวมทั้งลดอาการข้างเคียง (คลื่นไส้ อาเจียน) จากเคมีบำบัด
   
ไม่ว่าในยามปกติดีหรือในยามผู้ป่วยไข้ ขอให้เราหันมาใส่ใจดูแลจิตใจโดยการบริหารจิตด้วยวิธีต่างๆ ควบคู่กับการดูแลทางกายกันเถอะครับ
   
 

ข้อมูลสื่อ

321-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 321
มกราคม 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ