• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทอนซิลอักเสบ


มีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่เจ็บตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางคนอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย  
    
อาการไข้และเจ็บคอ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส  รวมทั้งไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่  ซึ่งอาการเจ็บคอจะเป็นเพียงเล็กน้อย  แต่ถ้ามีอาการเจ็บคอมาก  จนกลืนหรือพูดลำบาก  อาจมีสาเหตุจากทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง  ซึ่งต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง  มิเช่นนั้น  อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

* ชื่อภาษาไทย  ทอนซิลอักเสบ, ต่อมทอนซิลอักเสบ

* ชื่อภาษาอังกฤษ  Tonsillitis

* สาเหตุ  ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัด  ไข้หวัดใหญ่  รวมทั้งไวรัสอื่นๆอีกหลายชนิด
      
บางส่วนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่หลายชนิด  เชื้อมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย  ติดต่อโดยการหายใจเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด  หรือโดยการสัมผัสถูกมือผู้ป่วย สิ่งของหรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อที่ออกมากับน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย เมื่อนิ้วมือที่แปดเปื้อนเชื้อสัมผัสปากหรือจมูก เชื้อก็จะเข้าไปใน          คอหอยและทอนซิล
      
ที่สำคัญคือ การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส  กลุ่มเอ (group  A beta-hemolytic streptococcus) ซึ่งก่อให้เกิดทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง (exudative tonsillitis) ระยะฟักตัว ๒-๗ วัน

* อาการ
กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส มีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่เจ็บมากขึ้นตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย           ตาแดง บางคนอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย  การตรวจดูคอจะพบผนังคอหอยแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ทอนซิลอาจโตเล็กน้อยมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน
      
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง จะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลัน  หนาวสั่น  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามตัว  อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  เจ็บคอมากจนกลืนน้ำลายหรืออาหารลำบาก  อาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่หู  บางคนอาจมีอาการปวดท้อง  หรืออาเจียนร่วมด้วย  มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ  หรือตาแดง  แบบการติดเชื้อจากไวรัส  
      
การตรวจดูจะพบผนังคอหอยและเพดานอ่อน  มีลักษณะแดงจัดและบวม  ทอนซิลบวมโตสีแดงจัด  และมีแผ่นหรือจุดหนองสีขาวๆเหลืองๆติดอยู่บนทอนซิล  นอกจากนี้       ยังอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ

* การแยกโรค
อาการไข้และเจ็บคอ  อาจมีสาเหตุที่พบได้บ่อยดังนี้
      
ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้ น้ำมูกใส อาการเจ็บคอพบในช่วง ๑-๒วันแรก  เป็นเพียงเล็กน้อย คล้ายๆ อาการคอแห้งผาก ทอนซิลมักไม่โตหรือโตเพียงเล็กน้อย ลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน
      
แผลแอฟทัส (แผลร้อนใน) จะมีอาการกลืนลำบากพูดลำบาก อาจมีไข้ร่วมด้วย  การตรวจดูคอจะพบแผลตื้นๆ ตรงบริเวณคอหอย ทอนซิลมักไม่โต อาการเจ็บคอจะเป็นอยู่ ๕-๑๐ วัน ก็จะทุเลาไปได้เอง
      
คอตีบ จะมีไข้ เจ็บคอ ไอเสียงแหบ หายใจลำบาก ตัวเขียว การตรวจดูคอ จะพบแผ่นหนองสีขาวปนเทาติดอยู่ที่บริเวณผนังคอหอยและทอนซิล จัดว่าเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องรีบไปรักษาที่โรงพยาบาล
   
* การวินิจฉัย
มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดงและการตรวจดูคอ  ถ้าผนังคอหอยและทอนซิลมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ก็มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส  
      
ถ้าทอนซิลบวมโต แดงจัด และมีแผ่นหรือจุดหนองติดอยู่บนทอนซิล  ก็มักจะมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อบีตาฮีโมโลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ
ในรายที่ไม่แน่ใจแพทย์อาจต้องทำการตรวจหาเชื้อจากบริเวณคอหอยและทอนซิล  โดยใช้วิธีที่เรียกว่า "rapid strep test" ซึ่งสามารถทราบผลได้ในไม่กี่นาที ถ้าผลการตรวจไม่ชัดเจน  ก็อาจต้องทำการเพาะเชื้อซึ่งจะทราบผลใน ๑-๒ วัน
   
* การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการไข้และเจ็บคอ ควรทำการตรวจดูคอ โดยการอ้าปากกว้างๆ ใช้ไฟฉายส่องดูภายในลำคอ (ถ้าตรวจดูด้วยตนเองให้ใช้กระจกส่อง)

หากมั่นใจว่าเป็นการติดเชื้อไวรัส เช่น มีน้ำมูกใส  เจ็บคอเล็กน้อย ทอนซิลไม่โต  หรือโตเพียงเล็กน้อยและแดงไม่ชัดเจน ก็ให้การดูแลเบื้องต้นดังนี้
๑. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ
๒. ถ้ามีไข้สูงใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น กินยาลดไข้-พาราเซตามอลเป็นครั้งคราว
๓. ถ้าเจ็บคอมาก ควรกินอาหารอ่อน เช่น น้ำหวาน นม ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่น ๑ ช้อนชา หรือ ๕ มล. ในน้ำอุ่น ๑ แก้ว) วันละ ๒-๓ ครั้ง

ควรไปพบแพทย์  เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้  
๑. มีอาการเจ็บคอมาก  จนกลืนหรือพูดลำบาก
๒. หายใจหอบ
๓. ทอนซิลบวมแดงมาก  หรือพบมีแผ่นหรือจุดหนองบนทอนซิล
๔. มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว  ต่อเนื่องกันเกิน ๒๔ ชั่วโมง
๕. มีไข้เกิน ๔ วัน
๖. ดูแลรักษาตนเอง ๔ วันแล้วยังไม่ทุเลา
๗. มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง
   
* การรักษา 
แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ก็จะให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ แก้หวัด) ซึ่งมักจะหายได้ภายใน ๑ สัปดาห์
      
ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากให้ยาบรรเทาตามอาการแล้ว  ก็จะให้ยาปฏิชีวนะรักษาด้วย เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน อาการมักทุเลาหลังกินยาปฏิชีวนะ ๔๘-๗๒ ชั่วโมง  แพทย์จะให้กินยาต่อเนื่องจนครบ ๑๐ วัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
      
ในปัจจุบันการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะนับว่าได้ผลดี  มีน้อยรายที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล (tonsillectomy) ซึ่งจะทำเฉพาะในรายที่เป็นๆ หายๆ ปีละมากกว่า               ๔ ครั้ง จนเสียงานหรือหยุดเรียนบ่อย มีการอักเสบของหูชั้นกลางบ่อย หรือก้อนทอนซิลโตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ

* ภาวะแทรกซ้อน
กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนผู้ที่เป็นไข้หวัด  ไข้หวัดใหญ่  ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ  ปอดอักเสบ เป็นต้น
      
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังนี้
๑. เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้เป็นหูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบ  ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีที่ทอนซิล  
๒. เชื้ออาจเข้ากระแสเลือดแพร่กระจายไปยังที่ต่างๆ  ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน  กระดูกอักเสบเป็นหนอง  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
๓. ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmun reaction) กล่าวคือหลังจากติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อขึ้นมา  แล้วไปก่อปฏิกิริยาต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่ ไข้รูมาติก (มีการอักเสบของข้อและหัวใจ หากปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจพิการ หัวใจวายได้) และ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ บวม ปัสสาวะสีแดง อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้) โรคแทรกเหล่านี้มักเกิดหลังทอนซิลอักเสบ               ๑-๔ สัปดาห์
สำหรับไข้รูมาติก มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ ๐.๓-๓ ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง
การป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงดังกล่าวสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการกินยาปฏิชีวนะให้ครบ ๑๐ วัน (แม้ว่าอาการจะทุเลาหลังกินยาได้ ๒-๓ วันไปแล้วก็ตาม)
      
* การดำเนินโรค
ถ้าเกิดจากไวรัส ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน ๑ สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

ถ้าเกิดจากแบคทีเรีย โดยเฉพาะบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ถ้าได้ยาปฏิชีวนะที่ถูกกับโรค มักจะทุเลาหลังกินยา ๔๘-๗๒ ชั่วโมง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือได้ไม่ครบ (๑๐ วันสำหรับเพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน) ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
      
บางคนเมื่อหายดีแล้ว ก็อาจกำเริบได้เป็นครั้งคราว เมื่อร่างกายอ่อนแอ เช่น พักผ่อนไม่พอ เครียด เป็นต้น
      
* การป้องกัน
๑. รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์
๒. เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นทอนซิลอักเสบ (หรือมีไข้ เจ็บคอ) ควรพยายามอย่าอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย และระวังอย่าให้ผู้ป่วยไอหรือจามรด อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย              และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ เพื่อชะล้างเชื้อที่อาจติดมากับมือที่ไปสัมผัสถูกสิ่งของที่แปดเปื้อนของผู้ป่วย
      
* ความชุก
อาการไข้ เจ็บคอ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป
ส่วนทอนซิลอักเสบเป็นหนอง พบบ่อยในเด็ก อายุ ๕-๑๕ ปี อาจพบได้ประปรายในผู้ใหญ่ และพบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบ โรคนี้อาจติดต่อในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่าใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น ในบ้าน ที่ทำงาน หอพัก โรงเรียน เป็นต้น


       
           
 

ข้อมูลสื่อ

324-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ