• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน คือภาวะที่ปริมาณแร่ธาตุ (ที่สำคัญคือแคลเซียม) ในกระดูกลดลง ร่วมกับความเสื่อมของเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นโครงสร้างภายในกระดูก ทำให้เนื้อหรือมวลกระดูกลดความหนาแน่น จึงเปราะบางแตกหักง่าย บริเวณที่พบการหักของกระดูกได้บ่อย ได้แก่ ข้อมือ สะโพก และสันหลัง
โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับแสงแดดอ่อนๆ เป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราจัด เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้ ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว

  • ชื่อภาษาไทย

กระดูกพรุน

  • ชื่อภาษาอังกฤษ

Osteoporosis

  • สาเหตุ

กระดูกประกอบด้วย โปรตีน คอลลาเจน และแคลเซียม โดยมีแคลเซียมฟอสเฟตเป็นตัวทำให้กระดูกแข็งแรง ทนต่อแรงดึงรั้ง
กระดูกมีการสร้างและสลายตัวอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ ขณะที่มีการสร้างกระดูกใหม่โดยใช้แคลเซียมจากอาหารที่กินเข้าไป ก็มีการสลายแคลเซียมในเนื้อกระดูกเก่าออกมาในเลือดและถูกขับออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระ ปกติในเด็กจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการสลาย ทำให้กระดูกมีการเจริญเติบโต มวลกระดูกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนมีความหนาแน่นสูงสุด เมื่ออายุประมาณ ๓๐-๓๕ ปี หลังจากนั้นจะเริ่มมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้าง ทำให้กระดูกค่อยๆ บางตัวลงตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้หญิงช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีการลดลงของฮอร์โมนเอสโทรเจนอย่างรวดเร็ว ฮอร์โมนชนิดนี้ช่วยการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายและชะลอการสลายของแคลเซียมในเนื้อกระดูก เมื่อพร่องฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะทำให้กระดูกบางตัวลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะกระดูกพรุน

ดังนั้น โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่จึงเกิดจากภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิง (ซึ่งจะเริ่มมีอัตราเร่งของการสลายตัวของกระดูกในช่วง ๑๐-๒๐ ปี หลังหมดประจำเดือน) และความเสื่อมตามอายุที่มีการสะสมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยาวนานของการเสียสมดุลระหว่างการสร้างและการสลายของกระดูก (พบได้ทั้งชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า ๗๕ ปี)

นอกจากนี้ ยังอาจพบร่วมกับภาวะอื่นๆ เรียกว่า กระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ (secondary osteoporosis) เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคคุชชิง (ภาวะต่อมหมวกไตทำงานเกินหรือมีฮอร์โมนสตีรอยด์มากเกิน) ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน เบาหวาน โรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคตับเรื้อรัง น้ำหนักน้อย (ผอม) ภาวะขาดสารอาหารและแคลอรี ภาวะขาดแคลเซียม มะเร็ง (เต้านม เม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง) การใช้ยาสตีรอยด์ ยาขับปัสสาวะ (เช่น ฟูโรซีไมด์) หรือเฮพารินนานๆ หรือใช้ฮอร์โมนไทรอยด์มากเกิน การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายนานๆ (เช่น ผู้ป่วยที่นอนแบ็บอยู่บนที่นอนตลอดเวลา) การสูบบุหรี่ (ทำให้เอสโทรเจนในเลือดลดลง) การเสพติดแอลกอฮอล์ เป็นต้น

บางครั้งอาจพบในคนอายุไม่มาก โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจนก็ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์อีกด้วย

  • อาการ

ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการแสดง จนกระทั่งเกิดภาวะกระดูกหัก ก็จะเกิดอาการเจ็บปวด หรือความผิดปกติของโครงสร้างกระดูก เช่น ปวดข้อมือ สะโพก หรือหลัง (เนื่องจากกระดูกข้อมือ สะโพก หรือสันหลังแตกหัก) ส่วนสูงลดลงจากเดิม (เนื่องจากการหักและยุบตัวของกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น)
ถ้าเป็นโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิก็อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ

  • การแยกโรค

เมื่อมีอาการปวดกระดูก เนื่องจากกระดูกหัก นอกจากภาวะกระดูกพรุนตามวัยสูงอายุแล้ว ก็ควรคิดถึงสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้กระดูกพรุนก่อนวัย เช่น โรคไทรอยด์ โรคพาราไทรอยด์ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ โรคคุชชิง (จากภาวะต่อมหมวกไตทำงานเกิน) โรคมะเร็งที่แพร่กระจายไปที่กระดูก การใช้ยาติดต่อกันนานๆ (ที่สำคัญคือ ยาสตีรอยด์ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของยาชุด หรือยาลูกกลอน) เป็นต้น

  • การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์กระดูก ตรวจความหนาแน่นของกระดูก (bone mineral density) ด้วยเครื่องตรวจโดยเฉพาะ เช่น การตรวจด้วยวิธี DXA (dual-energy X-ray absorptiometry ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ให้ผลเร็วและแม่นยำ)
นอกจากนี้ ถ้าสงสัยมีสาเหตุอื่นที่เป็นต้นเหตุของกระดูกพรุน ก็อาจทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะและตรวจพิเศษอื่นๆ

  • การดูแลตนเอง

๑. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หญิงวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ผู้ที่ใช้ยาสตีรอยด์นานๆ ผู้ที่มีโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจกรองโรคกระดูกพรุน
๒. ผู้ที่ตรวจกรองโรคพบว่าเริ่มมีภาวะกระดูกพรุน จะต้องระมัดระวังอย่าให้หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ ทำให้กระดูกหัก เช่น แก้ไขภาวะความดันตกในท่ายืน หรือสายตามัว (เช่น ต้อกระจก) หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้ง่วงนอน หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง (เช่น ยากล่อมประสาท) และควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย (เช่น บันไดที่ขึ้นลง แสงสว่าง ห้องน้ำ พื้นต่างระดับ ราวเกาะยึด เป็นต้น)
๓. ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนที่รุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น กระดูกหัก) ควรติดตามรักษากับแพทย์และกินยาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

  • การรักษา

แพทย์จะมีแนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะกระดุพรุน ดังนี้
สำหรับผู้ป่วยที่มีกระดูกพรุน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้กินแคลเซียม เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต ครั้งละ ๖๐๐-๑,๒๕๐ มก. วันละ ๒ ครั้ง และอาจให้วิตามินดีวันละ ๔๐๐-๘๐๐ มก. ร่วมด้วยในรายที่อยู่แต่ในร่ม (ไม่ได้รับแสงแดด) ตลอดเวลา

สำหรับหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทน เช่น conjugated equine estrogen (ชื่อทางการค้า เช่น Premalin) ๐.๓-๐.๖๒๕ มก. หรือ micronized estradiol ๐.๕-๑ มก. วันละครั้ง ในรายที่มีข้อห้ามใช้หรือมีผลข้างเคียงมาก อาจให้ราล็อกซิฟิน (raloxifene) แทนในขนาดวันละ ๖๐-๑๒๐ มก. ยานี้ออกฤทธิ์คล้ายเอสโทรเจน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า

สำหรับผู้ชายสูงอายุที่มีภาวะฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนร่วมด้วย อาจต้องให้ฮอร์โมนชนิดนี้เสริม

นอกจากนี้ อาจพิจารณาให้ยากระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม และ/หรือยาลดการสลายกระดูกเพิ่มเติมแก่ผู้ป่วยบางราย เช่น
• ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (bisphosphonate) ที่นิยมใช้ได้แก่ อะเลนโดรเนต (alendronate) ๑๐ มก. ให้กินวันละ ๑ ครั้ง หรือ ๗๐ มก. สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ยานี้ช่วยลดการสลายกระดูก และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ป้องกันการแตกหักของกระดูกสันหลังและสะโพก เหมาะสำหรับผู้ป่วยชาย ผู้ป่วยหญิงที่ไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทน และใช้ป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้ที่ต้องกินยาสตีรอยด์นานๆ
• แคลซิโทนิน (calcitonin) มีทั้งชนิดพ่นจมูกและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ยานี้ช่วยลดการสลายกระดูก และมีประโยชน์ในการใช้ลดอาการปวด เนื่องจากการแตกหักและยุบตัวของกระดูกสันหลังอีกด้วย

ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาเป็นประจำ แพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะ อาจต้องทำการตรวจกรองมะเร็งเต้านมและปากมดลูก (สำหรับผู้ที่กินเอสโทรเจน) ปีละ ๑ ครั้ง ตรวจความหนาแน่นของกระดูกทุก ๒-๓ ปี เอกซเรย์ในรายที่สงสัยมีกระดูกหัก เป็นต้น

ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกหัก ก็ให้การรักษา เช่น การเข้าเฝือก การผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น
ในรายที่มีโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ ก็ให้การรักษาไปพร้อมๆ กัน

  • ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญคือ กระดูกหัก อาจทำให้เกิดความพิการ เดินไม่ได้ หรือหลังโกงหลังค่อม
ในรายที่กระดูกสะโพกหัก ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ ถ้าจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหลังผ่าตัดได้

  • การดำเนินโรค

ถ้าหากได้รับการดูแลรักษาอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ก็สามารถทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลงได้
แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจทำให้กระดูกหัก อาจทำให้เกิดความพิการได้

  • การป้องกัน

๑. กินแคลเซียมให้พอเพียงทุกวัน อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เนยแข็ง ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก (เช่น ปลาไส้ตัน) กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ถั่วแดง ผักสีเขียวเข้ม (เช่น คะน้า ใบชะพู) งาดำคั่ว

แนวทางปฏิบัติ สำหรับเด็กและวัยรุ่นควรดื่มนมวันละ ๒-๓ แก้ว ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุดื่มนมวันละ ๑-๒ แก้วเป็นประจำ จะทำให้ได้รับแคลเซียมร้อยละ ๕๐ ของปริมาณที่ต้องการ ส่วนแคลเซียมที่ยังขาดให้กินจากอาหารแหล่งอื่นๆ ประกอบ

ผู้ใหญ่บางคนที่มีข้อจำกัดในการดื่มนม (เช่น มีภาวะไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด) ให้เลือกกินเนยแข็ง นมเปรี้ยว นมพร่องมันเนย แทน หรือบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงในแต่ละมื้อให้มากขึ้น
๒. ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังที่มีการถ่วงหรือต้านน้ำหนัก (weight bearing) เช่น การเดิน การวิ่ง เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก รำมวยจีน เต้นรำ เป็นต้น ร่วมกับการยกน้ำหนัก จะช่วยให้มีมวลกระดูกมากขึ้น และกระดูกมีความแข็งแรง ทั้งแขน ขา และกระดูกสันหลัง
๓. รับแสงแดด ช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งเป็นฮอร็โมนกระตุ้นการสร้างกระดูก ในบ้านเราคนส่วนใหญ่จะได้รับแสงแดดเพียงพออยู่แล้ว นอกจากในรายที่อยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา ก็ควรจะออกไปรับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าหรือยามเย็น วันละ ๑๐-๑๕ นาที สัปดาห์ละ ๓ วัน ถ้าอยู่แต่ในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดด อาจต้องกินวิตามินดีเสริมวันละ ๔๐๐-๘๐๐ มก.
๔. รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอมเกินไป) เพราะคนผอมจะมีมวลกระดูกน้อย เสี่ยงต่อกระดูกพรุนได้
๕. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น
ไม่กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะอาหารพวกนี้จะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากเกินปกติ
ไม่กินอาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะเกลือโซเดียมจะทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และเพิ่มการขับแคลเซียมทางไตมากขึ้น
ไม่ดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก เพราะกรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลมทำให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ในปริมาณมาก เพราะแอลกอฮอล์และกาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็ก (กาแฟไม่ควรดื่มเกินวันละ ๓ แก้ว แอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ ๒ หน่วยดื่ม ซึ่งเทียบเท่าแอลกอฮอล์สุทธิ ๓๐ มล.)
งดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น (เนื่องจา

กลดระดับเอสโทรเจนในเลือด)
ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสตีรอยด์ ซึ่งจะเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
๖. รักษาโรคหรือภาวะที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคคุชชิง


 

  • ความชุก

โรคนี้พบมากในคนสูงอายุ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ๒ เท่า ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคกระดูกพรุน หรือมีรูปร่างผอม ตัวเล็ก จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
นอกจากนี้ ยังอาจพบได้มากขึ้นในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด กินยาสตีรอยด์ (เช่น ยาชุด ยาลูกกลอน) เป็นประจำ เป็นต้น
 

ข้อมูลสื่อ

396-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 396
เมษายน 2555
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ