• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อหมอเป็นโรคกระเพาะ

เมื่อหมอเป็นโรคกระเพาะ

ในช่วงห่างกันประมาณ ๒๐ ปี ผมถูกโรคกระเพาะเล่นงานอย่างหนักอยู่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว และครั้งหลังเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา

ตอนเป็นครั้งแรกอายุ ๓๐ กว่าปี ตอนนั้นมีงานยุ่งๆ หลายอย่าง มีอาการปวดแสบตรงใต้ลิ้นปี่เวลาก่อนมื้ออาหารและเวลาท้องว่างๆ พอได้ดื่มนมอาการก็ทุเลา จึงได้ดื่มนมเพิ่มขึ้นอีก ๒ กล่อง คือ ช่วงสายๆ และช่วงบ่ายๆ และได้กินยาลดกรดน้ำขาว ช่วงหลังอาหาร ๓ มื้อ และก่อนนอน ปฏิบัติเช่นนี้อยู่ ๒-๓ เดือน โรคกระเพาะ ก็ดูเหมือนจะหายดี แต่น้ำหนักตัวขึ้นไป ๓-๔ กิโลกรัม เกินเกณฑ์ปกติไปพอควร เป็นผลมาจากนมที่ดื่มเพิ่มวันละ ๒ กล่องที่อุดมด้วยน้ำตาลและไขมันนั่นเอง

เมื่อรู้สึกว่าหายดีแล้ว ก็ได้งดนม ๒ มื้อนั้น และเลิกกินยาลดกรด เว้นไปได้ไม่ถึง ๒ สัปดาห์ อาการโรคกระเพาะก็หวนกับมาอีก จึงรักษาตัวเองตามแบบเดิม เป็นๆ หายๆ เช่นนี้อยู่ร่วมปี จนมีอยู่คืนหนึ่ง มีอาการอาเจียนตอนกลางดึก วิตกว่าอาจมีภาวะอะไรแทรกซ้อนก็เป็นได้ จึงได้ทำการเอกซเรย์กระเพาะลำไส้โดยการกลืนแป้งแบเรียม (แป้งแบเรียมช่วยให้เห็นภาพภายในกระเพาะลำไส้ชัดเจนขึ้น) หมอเอกซเรย์อ่านผลว่า พบก้อนเนื้องอกที่บริเวณกระเพาะอาหาร สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง

ผมรู้สึกอึ้งไปพักใหญ่ ผมถูกมะเร็งร้ายเล่นงานให้เข้าแล้วหรือนี่ แต่อีกใจหนึ่งก็ปลอบตัวเองว่าไม่น่าจะใช่ เพราะน้ำหนักผมขึ้นเอาๆ จะเป็นโรคร้ายได้อย่างไร ตอนที่ทราบผลนั้นเป็นช่วงบ่ายวันศุกร์ รีบโทรศัพท์นัดหมอที่เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารให้ทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะเช้าวันจันทร์ ทำใจว่ารอลุ้นผล ในวันจันทร์ก็แล้วกัน เมื่อทำใจได้ ผมก็นอนหลับปุ๋ยทุกคืน แต่คนที่นอนไม่หลับกลับเป็นคนใกล้ชิดในบ้าน ผลการส่องกล้องในเช้าวันจันทร์คือ ไม่มีก้อนเนื้องอกในกระเพาะอาหาร เพียงแต่พบเยื่อบุผิวกระเพาะมีอาการอักเสบ บวมแดง วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เพื่อความแน่ใจ อีก ๒ สัปดาห์ต่อมา ผมได้ตรวจเอกซเรย์กระเพาะซ้ำอีกรอบ ก็ยังอ่านผลว่าพบก้อนเนื้องอกที่กระเพาะอาหารอยู่ดี ก็ได้ส่องกล้องตรวจกระเพาะซ้ำหนที่ ๒ ยืนยันว่าไม่มีก้อนเนื้องอก วิธีส่องกล้องให้ผลลัพธ์ที่แน่นอนกว่าจึงมั่นใจว่าผมไม่ได้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ส่วนภาพถ่ายเอกซเรย์นั้นเป็นผลผิดพลาด คือเป็นผลหลอก การตรวจต่างๆ อาจให้ผลหลอกแบบนี้ได้ ส่วนจะบ่อยแค่ไหน ขึ้นกับความแม่นยำของวิธีการตรวจนั้นๆ

ผลหลอกอาจเป็นได้ทั้งในแง่บวกและลบ ถ้าไม่ได้เป็นโรคแต่ผลการตรวจหลอกว่าเป็นก็เรียกว่า "ผลบวกหลอก" (ดังกรณีข้างต้น) ตรงกันข้าม ถ้าเป็นโรคแต่ผลการตรวจหลอกว่าไม่ได้เป็น ก็เรียกว่า "ผลลบหลอก" เช่น ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การตรวจคลื่นหัวใจจะให้ผลลบหลอกถึงร้อยละ ๕๐ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีที่แม่นยำกว่า (เช่น ทดสอบวิ่งสายพาน ฉีดสี)

เมื่อทราบว่าอาการโรคกระเพาะของผมเป็นจากกระเพาะอาหารอักเสบ ผมก็กินยาลดกรดรักษาต่อ และลงมือวิ่งออกกำลังกายอย่างจริงจัง ผ่านไป ๑-๒ เดือน โรคกระเพาะของผมก็หายขาด และสามารถหยุดยาได้เด็ดขาด คราวนั้น ผมเที่ยวบอกใครต่อใครว่า โรคกระเพาะของผมหายขาดด้วยการวิ่ง และมีความรู้สึกเห็นคุณค่าของความสุขสบาย ("อโรคยา ปรมาลาภา") เมื่อผ่านพ้นความทุกข์ทรมานจากอาการไม่สุขสบาย จากนั้นมาผมก็หันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตลอดมา อาการโรคกระเพาะกลับมาเล่นงานผมอีกครั้งเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา ก็เข้าใจว่าโรคเก่ากำเริบ จึงกินยาลดกรดน้ำขาวอย่างเดิม แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยได้ผล เวลารู้สึกมีอาการลองดื่มนมดู แทนที่จะทุเลากลับรู้สึกซ้ำเติมให้มากขึ้น ผมจึงหันมากินยารักษากระเพาะตัวใหม่ ได้แก่ ยาเม็ดโอเมพราโซล (omeprazole) มีฤทธิ์ชะงัดในการยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ก็รู้สึกทุเลา กินอยู่นาน ๓ เดือน ก็รู้สึกหายขาด ก็ลองหยุดยา พอหยุดได้ ๑-๒ สัปดาห์ ก็กำเริบอีก ก็เป็นๆ หายๆ เช่นนี้อยู่ร่วมปี รู้สึกแปลกใจว่าทำไมไม่หายขาด แม้ว่าจะออกกำลังกายทุกวัน ก็ไม่เห็นว่าได้ผล ผมเริ่มกังวลว่าอาจมีสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ ก็เป็นได้ จึงได้ให้หมอทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะเป็นหนที่ ๓ ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร หมอสันนิษฐานว่าผมเป็นโรคน้ำย่อยไหลกลับ หรือโรคเกิร์ด (GERD) โรคนี้เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารหย่อนสมรรถภาพในการปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับ ขึ้นไปที่หลอดอาหาร หลังกินอาหารใหม่ๆ จะมีน้ำย่อยไหลกลับมาระคายเคืองผิวหลอดอาหาร เกิดอาการแสบ หรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่ บางครั้งมีอาการเรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอ

ผมหันมาทบทวนอาการที่เป็นในรอบหลังนี้ ก็เห็นชัดว่าอาการแตกต่างจากครั้งแรกที่เป็นคราวก่อนนั้นจะปวดแสบเป็นพักๆ เฉพาะในช่วงที่ท้องว่าง พอดื่มนมหรือกินอาหารอาการก็ทุเลา แต่คราวนี้รู้สึกจุกแน่นที่ลิ้นปี่ตลอดทั้งวัน ไม่เกี่ยวกับก่อนหรือหลังอาหาร และเมื่อทบทวนอย่างถี่ถ้วนก็พบว่า อาการมักจะกำเริบทุกครั้งที่ดื่มกาแฟ ชา น้ำอัดลม หรือน้ำส้มคั้น อาหารมัน (เช่น มันหมู กะทิ นมที่มีไขมัน ของผัด ข้าวผัด) ผมจึงได้หันมาหลีกเลี่ยงไม่กินของพวกนี้ ก็พบว่าได้ผล อาการโรคกระเพาะได้ห่างหายไป และไม่ต้องกินยารักษากระเพาะทุกวันอย่างที่เคย

ทุกวันนี้ ถ้าเผลอกินของต้องห้ามดังกล่าว ก็ยังมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ถ้ารู้สึกอาการเพียงเล็กน้อย ก็ปล่อยให้หายเอง แต่ถ้าเป็นมากก็กินยาบรรเทาเพียง  ๒-๓ วัน โรคนี้จะเป็นเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงก็ต้องเตรียมตัวอยู่กับมันอย่างมีความสุขให้ได้

บทส่งท้ายก็คือ ปัจจุบันเมื่อมีอาการปวดท้องโรคกระเพาะ ถ้าหากรักษานาน ๒ สัปดาห์ แล้วหายดี ก็ให้กินยาจนครบ ๒ เดือน แต่ถ้ากินยา ๒ สัปดาห์แล้วยังไม่ทุเลา หรือกินยาครบ ๒ เดือนแล้วกลับกำเริบใหม่  ก็ควรจะปรึกษาแพทย์หรือถ้ามีอาการโรคกระเพาะในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี ก็ไม่ควรรักษากันเอง ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจพิจารณาทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะ ทั้งนี้เนื่องจากอาการโรคกระเพาะอาจมีสาเหตุได้หลากหลาย รวมทั้งมะเร็งกระเพาะอาหาร (มักพบในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี) จำเป็นต้องตรวจให้พบสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุ

ข้อมูลสื่อ

317-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 317
กันยายน 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ