• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเปลี่ยนถ่ายเลือด (Blood transfusion)

การเปลี่ยนถ่ายเลือด (Blood transfusion)


ถ้าคนเราเสียเลือดมากๆ ทำให้เสียชีวิตได้  แพทย์เกิดความคิดที่จะถ่ายเลือดจากคนสู่คน แต่เป็นเพียงความคิดเท่านั้น จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๒๐๘  นายแพทย์ริชาร์ด โลเวอร์ (Richard Lower) ชาวอังกฤษได้ทดลองถ่ายเลือดจากสุนัขไปยังสุนัขพบว่าไม่มีอะไรผิดปกติ สองปีต่อมานายแพทย์ริชาร์ด และนายแพทย์จีน แบ๊บติสต์ เดนิส (Jean-Babtiste Denis) ชาวฝรั่งเศส รายงานความสำเร็จในการถ่ายเลือดจากแกะสู่คน จากนั้นก็มีการทดลองถ่ายเลือดจากสัตว์สู่คนมากมายแต่ส่วนใหญ่เกิดผลเสีย  ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๒๒๑ สมาคมแพทย์แห่งปารีสประกาศให้การถ่ายเลือดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การทดลองถ่ายเลือดจึงเงียบหายไป อีกร้อยกว่าปีต่อมา พ.ศ.๒๓๓๘ นายแพทย์ฟิลลิป ซิง ไฟซิก (Phillip Syng Physick) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันถ่ายเลือดจากคนสู่คนแต่ไม่ได้บันทึกไว้เป็นทางการ

สำหรับการถ่ายเลือดมีบันทึกไว้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๓๖๑ นายแพทย์เจมส์ บลูนเดลล์ (James Blundell) สูตินรีแพทย์ชาวอังกฤษทำคลอดหญิงผู้หนึ่ง และเกิดตกเลือดหลังคลอดอย่างมาก นายแพทย์เจมส์ได้ถ่ายเลือดจากสามีของเธอให้ ผลสุดท้ายเธอรอดชีวิต ทำให้มีการทดลองถ่ายเลือดจากคนสู่คนอีกมากมาย

การถ่ายเลือดมีปัญหาหลักๆ อยู่ ๒ ข้อ นั่นคือ

๑. ผู้รับเลือดมากกว่าครึ่งเกิดปฏิกิริยาต่อเลือด ที่ได้รับและบางรายถึงกับเสียชีวิต 

๒. เมื่อเลือดออกจากร่างกายไม่นานก็เกิดเป็นลิ่มเลือด  ทำให้การถ่ายเลือดในยุคนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

สำหรับปัญหาข้อแรกนั้นเกิดอยู่หลายสิบปี จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๔๓ นายแพทย์คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) นำเลือดของคนเราไปปั่นจนเม็ดเลือดต่างๆ ตกตะกอนและเหลือสารน้ำใสๆ ที่เรียกว่า ซีรัม (serum) จากคนหนึ่งไปหยดลงบนเลือดของอีกคนหนึ่งมันจะเกิดตะกอน นายแพทย์คาร์ลจึงศึกษาเรื่องนี้จนพบว่า เซลล์ เม็ดเลือดแดงจะมีสารอยู่บนผิวเซลล์ (Antigen : Ag) อยู่ ๒ ชนิดคือ Ag A และ Ag B ส่วนในซีรัมจะมีสารต่อต้าน(Antibody : Ab) อยู่ ๒ ชนิดเช่นกันคือ Ab A และ Ab B
นายแพทย์คาร์ลเสนอว่า คนเรามีหมู่เลือดอยู่  ๓ หมู่ โดยคนที่มีหมู่เลือด A จะมี Ag A และ Ab B คนที่มีหมู่เลือด B จะมี Ag B และ Ab A ส่วนคนที่มีหมู่เลือด C จะไม่มี Ag ใดๆ เลยแต่มี Ab ทั้ง A และ B  ต่อมาเกรงว่าคนจะเข้าใจผิดว่าหมู่เลือด C เป็นหมู่เลือดที่มี Ag C เขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่เลือด O เพื่อสื่อถึงความว่างเปล่า อีก ๑ ปีต่อมา แพทย์ผู้ร่วมงานของแลนด์ สไตเนอร์ พบว่าเลือดของบางคนมีทั้ง Ag A และ  Ag B แต่ไม่มี Ab ใดๆ เลยและเรียกหมู่เลือดที่สี่นี้ว่าหมู่ AB

พ.ศ.๒๔๕๐ นายแพทย์ลุดวิก เฮกตอน (Ludvig Hektoen) ชาวอเมริกันแนะนำให้ตรวจเลือดของ ผู้ให้และผู้รับว่าเข้ากันได้หรือไม่ (cross matching) น่าจะเพิ่มความปลอดภัยได้ และ รูเบน ออตเท็นเบิร์ก (Reuben Ottenberg) แพทย์ชาวอเมริกันก็เป็นคนแรกที่ทำ Cross matching  นอกจากนี้ นายแพทย์ ออตเท็นเบิร์ก ยังสังเกตว่าหมู่เลือดไม่ได้เกิดอย่างไร้ระเบียบแต่เป็นไปตามการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของเมนเดล

พ.ศ. ๒๔๕๕ โรเจอร์ ลี (Roger Lee) สาธิตว่า หมู่เลือด AB รับเลือดได้ทุกหมู่เรียกว่าผู้รับสากล (universal recipient) ส่วนหมู่เลือด O ให้ได้ทุกหมู่เรียกว่าผู้ให้สากล(universal donor) แต่ปัญหาที่ ๒ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๕๗ ค้นพบสารป้องกันการแข็งตัวของเลือดคือโซเดียม ซิเทรต (sodium citrate)

พ.ศ.๒๔๕๘ นายแพทย์ริชาร์ด เลวิสโอห์น  (Richard Lewisohn) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันก็นำสารนี้มาใช้ในการถ่ายเลือดพบว่าได้ผลดี จากนั้นก็มีการค้นพบสารป้องกันการแข็งตัวของเลือดอื่นๆ ตามมาทำให้สามารถเก็บเลือดไว้ได้นานยิ่งขึ้น

พ.ศ.๒๔๗๓ นายแพทย์คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เพราะจากการค้นพบหมู่เลือด ABO ทำให้ปฏิกิริยาจากการถ่ายเลือดลดลงมากแต่ก็ยังมีอยู่บ้าง

พ.ศ.๒๕๐๐ นายแพทย์เบรุช เอส บลูมเบิร์ก (Baruch S. Blumberg) แพทย์ชาวอเมริกันเดินทางไปที่ไนจีเรียเพื่อศึกษาสารประกอบโปรตีนในเลือด เขาพบว่ามีสารบางอย่างที่ไม่ใช่สารปกติในเลือด แต่ทำให้เกิดภาวะดีซ่าน ซึ่งต่อมาพิสูจน์ได้ว่ามันคือไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ต่อมาก็มีการค้นพบเชื้อที่ติดต่อทางเลือดอีกหลายชนิดที่สำคัญ เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV) การบริจาคเลือดในปัจจุบันจึงต้องตรวจหาเชื้อเหล่านี้ด้วย

อย่าลืมไปบริจาคเลือดนะครับ ไม่ต้องกลัวว่าเลือดเราจะหายไปเพราะเดี๋ยวเดียวไขกระดูกก็สร้างเม็ดเลือดมาทดแทนเอง เลือดของทุกคนมีค่ารักษาชีวิตคนอื่นได้ รวมพลังไปบริจาคเลือดกันเถอะ

ข้อมูลสื่อ

314-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 314
มิถุนายน 2548
นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์